Skip to main content

นับแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นมา ที่เราได้เปิดตัวโฮงเฮียนแม่น้ำของ หรือชื่อเรียกเป็นทางการว่า สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ อันเกิดขึ้นมาจากกลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่าย ซึ่งทำงานในการปกป้องแม่น้ำโขง และวัฒนธรรมในท้องถิ่น การก่อตั้งโฮงเฮียนแม่น้ำของก็เพื่อการเผยแพร่องค์ความรู้ ข่าวสาร สถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับแม่น้ำโขงให้สาธารณะได้รับรู้ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงและท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว การที่จะต้องนำเสนอข้อมูลไปสู่สาธารณะหรือท้องถิ่นมันจะต้องทันสมัยและเป็นปัจจุบัน เพราะฉะนั้นโครงการ  Mekong School online Platform ก็จะรวบรวมความรู้นำเสนอต่อสาธารณะ เพื่อช่วยกันปกป้องและแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ก็ขอเชิญชวนท่านที่สนใจในเรื่องราวของแม่น้ำโขงและการพัฒนาในท้องถิ่น เข้ามาติดตาม และแลกเปลี่ยนกันได้ใน www.mekongschool.org

Mekong Online Platform มันเป็นเรื่องสำคัญ มันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนได้เห็น เชื่อมคนทั้งโลกในเรื่องของแม่น้ำ เพราะว่าโลกในปัจจุบันถ้าพูดถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว มันไม่สามารถแบ่งพื้นที่ได้ มันไม่มีพรมแดน เพราะฉะนั้นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมันเป็นของคนทั้งโลก แม่น้ำก็เป็นของคนทั้งโลก มันต้องเชื่อมเรื่องนี้ให้เห็น มันเลยเกิดเป็นช่องทาง แพลตฟอร์มต่างๆขึ้นมา สื่อสารให้มันเข้าใจร่วมกัน คนแม่น้ำอื่นก็จะได้เข้าใจแม่น้ำโขง คนแม่น้ำโขงก็จะได้เข้าใจแม่น้ำต่างๆ ในประเทศต่างๆ เพราะฉะนั้นมันก็จะให้คนได้เห็นว่าโลกใบนี้มันแยกไม่ได้ มันเป็นสิ่งเดียวกัน เพื่อเชื่อมคนเข้าด้วย นี่คือสิ่งที่เราอยากทำและกำลังทำ

สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจร่วมว่าธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมไม่มีพรมแดน คนทั้งโลกเป็นเจ้าของและคนทั้งโลกต้องช่วยกันรักษา เหมือนแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ แต่จริงๆแล้วยังมีอธิปไตย เรื่องพวกนี้มันต้องถูกเผยแพร่ออกไป ว่าแม่น้ำโขงมีปัญหาอะไร ให้คนทั่วโลกได้รับรู้ ให้คนลุ่มน้ำอื่นๆได้รับรู้ เรื่องพวกนี้มันต้องถูกแก้ไขร่วมกัน เสียงของคนทั้งโลกมันก็จะไม่ใช่เป็นแค่เสียงของคนลุ่มน้ำโขงแล้ว มันอาจจะเป็นเสียงของคนลุ่มน้ำอื่นๆ ที่มาร่วมส่งเสียงร่วมกัน นี่สิ่งที่เราต้องการให้เกิด 

หากให้ขยายความหลักพื้นฐานของเรา “เคารพธรรมชาติ และศรัทธาในความเท่าเทียมกัน” ธรรมชาติมันกว้างพอสมควร ธรรมชาติในความหมายของผมคือลมหายใจของโลก ลมหายใจของมนุษย์ แค่นั้น แต่เมื่อให้ขยายความเพิ่มเติม ธรรมชาติมันเหมือนลมหายใจ โลกมันก็มีชีวิต ทุกสรรพสิ่งมีลมหายใจ ถ้าธรรมชาติมันถูกทำลายไปแล้ว อากาศไม่บริสุทธิ์คนก็หายใจไม่ได้ สิ่งมีชีวิตก็ได้รับผลกระทบ ถ้ามีธรรมชาติที่ดี ก็จะมีลมหายใจที่ดี โลกก็จะดี ธรรมชาติให้อาหารกับมนุษย์ ให้ยากับมนุษย์ ให้มนุษย์ได้อยู่สุขสบาย ธรรมชาติมันยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว ถ้าลมหายใจสกปรกคนก็อยู่ไม่ได้ โลกก็จะถูกทำลายไปเรื่อย ๆ

การขับเคลื่อนทำงานของโฮงเฮียนแม่น้ำของ กลุ่มรักษ์เชียงของ เราถือว่าการขับเคลื่อนมันจะไปในลักษณะการมองถึงการแก้ไข ถึงต้นตอของปัญหาด้วย และมองถึงการทันต่อสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นในการขับเคลื่อนเราก็จะมีอยู่สองอย่างคือ การสู้และสร้าง 

“สู้” ก็คือเป็นการรณรงค์ ทำความเข้าใจในสิ่งที่มันกำลังจะเกิดขึ้น ที่มันจะเป็นพิษเป็นภัยกับท้องถิ่นและแม่น้ำโขง ก็ต้องลุกขึ้นมาปกป้อง นี่เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา และสิ่งที่จะขาดไม่ได้ในการต่อสู้ในการขับเคลื่อนของภาคประชาชนหรือชาวบ้าน คือจะต้องมีการ “สร้าง” การสร้างเป็นเรื่องสำคัญที่จะหนุนเสริม การสู้ให้เข้มแข็ง ให้มีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น สิ่งสำคัญที่จะต้องสร้างร่วมกับการต่อสู้ คือ การสร้างองค์ความรู้ เพื่อให้ชาวบ้าน ภาคประชาชนได้เข้าใจถึงเรื่องราวหรือปัญหาที่เกิดขึ้น และมองไปถึงการแก้ไขปัญหาด้วย มีหลักในเชิงวิชาการด้วย นอกจากนั้นก็ต้อง สร้างพื้นที่ ในการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม เช่น เราสู้เรื่องการระเบิดเกาะแก่งก็ต้องมีพื้นที่ของชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาสู้ เพื่อความยั่งยืน  สร้างเครือข่าย เราจะต้องทำสิ่งเหล่านี้มาผสมผสานกันเพื่อสร้างการขับเคลื่อน ในเชิงนโยบายให้ได้ มันเลยทำให้นึกถึงเรื่องของ สภา อันนี้คือจุดมุ่งหมายที่จะสร้างไปถึงตรงนั้น และการสร้างองค์ความรู้ เราก็ไม่ได้สร้างโดยเฉพาะที่โฮงเฮียนแม่น้ำของเป็นคนทำเองเท่านั้น แต่มันมีส่วนร่วมของชาวบ้านอยู่ เพราะว่าการสร้างองค์ความรู้ร่วมกันผ่านเครื่องมือ คืองานวิจัย ผลที่มันได้รับมันไม่ได้ออกมาแค่ในงานเท่านั้น มันได้ไปถึงการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัย(ชาวบ้าน)  ชาวบ้านได้ถูกพัฒนาไปด้วย ทั้งเรื่องวิธีคิด การเก็บข้อมูล วิธีวิทยาต่างๆ ในเชิงวิทยาศาสตร์ ชาวบ้านก็จะถูกพัฒนาขึ้นไป 

สำคัญคือปัจจุบันโฮงเฮียนแม่น้ำของ มองเห็นการสร้างอันหนึ่งก็คือ การสร้างคน สร้างเด็กเยาวชนเป็นเรื่องใหญ่มาก เรามองเห็นว่าการต่อสู้มา 20 ปี ของเรา เรามองเห็นแล้วว่าบางอย่างเด็กๆเยาวชน ยังขาดการเชื่อมร้อยกับธรรมชาติ มันห่างออกไปด้วยวิถีชีวิตของเขา เขาอาจจะขาดความเข้าใจของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่ามันสำคัญกับชีวิตเขา เชื่อมโยงกับชีวิตเขายังไง เราก็ต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยเพราะว่ามันสำคัญกับเขาในอนาคต เช่น เราทำ Mekong Youth, เสียงเยาวชนเชียงของ และโครงการต่างๆ เราถือว่าเราสร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อจะได้มาช่วยกันสู้ไปด้วยกัน 

อีกอย่างเราต้องไม่ลืมว่า เราต้องสร้างการเชื่อมร้อย ที่ในอดีตมันเคยมีมาตลอดในวิถีวัฒนธรรมระหว่างรุ่นต่อรุ่น เพราะฉะนั้นองค์ความรู้ งานวิจัยต่างๆมันจะถูกเชื่อมร้อยระหว่างเยาวชน ไปถึงคนรุ่นกลาง และไปถึงคนเฒ่าคนแก่ 

และเราจะต้องเผยแพร่มันออกไปด้วย การเผยแพร่ในอดีต ผ่านมา 7-8 ปี เป็นการเผยแพร่ในท้องถิ่น ผ่านการเรียนรู้แบบ On site เพราะฉะนั้น เรื่องราวแม่น้ำโขง องค์ความรู้จากงานวิจัยต่างๆ ที่เราได้มา มันก็ไม่ได้ถึงขั้นยกระดับไปสู่สาธารณะหรือสากลมากเท่าไหร่ แต่โลกในอนาคตมันไปไกลแล้ว โฮงเฮียนแม่น้ำของอาจจะไม่ใช่ที่สำหรับมาเรียนรู้แบบ On site อย่างเดียว สิ่งต่างๆที่เราทำมันจะต้องถูกพัฒนาไปแบบออนไลน์ ส่งออกไปให้ผู้คนในโลกนี้ได้รับรู้ ในเรื่องราวของแม่น้ำโขง และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้รู้ว่าแม่น้ำมันถูกกระทำอย่างหนัก โดยเฉพาะจากเขื่อน ให้ทุกคนได้รับรู้สิ่งที่มันเกิดขึ้น และจะช่วยกันแก้ไขมันอย่างไร ก็อยากให้ทุกคนช่วยกัน มองสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน 

คือการสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งเราก็มองว่าการได้ร่วมกันทำเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องของความศรัทธาในความเท่าเทียม เราก็ถือว่าทุกคนเท่ากัน ทุกคนสามารถคิดได้ แต่จะออกไปทางไหนแล้วแต่จะคุยกัน ต้องฟังเหตุฟังผลกัน มีข้อมูล เราศรัทธาในเรื่องสิทธิ คนต้องเท่ากัน 

เขื่อนมันมีอยู่ทุกแม่น้ำ ทำลายทุกแม่น้ำมาหมดแล้ว เรื่องเขื่อนหรือโครงการขนาดใหญ่ที่มันเกิดขึ้น มันทำลายแม่น้ำ เพราะฉะนั้นปัญหาเหล่านี้ก็จะเป็นปัญหากับคนทั้งโลก แต่ว่าการแก้ไขปัญหามันไม่ได้เชื่อมคนทั้งโลกเข้าหากัน แต่แม่น้ำมันเชื่อมคนทั้งโลกเข้าหากันเป็นโลกเดียว 

เราก็อยากให้รู้ว่าแม่น้ำโขงก็เป็นแบบนี้ ที่อื่นก็เป็นแบบนี้  ให้เห็นว่าแม่น้ำมันเชื่อมกัน ทั้งคนอยู่กับแม่น้ำ แต่ทุกวันนี้เรากลับมองไม่เห็นกัน ว่าคนหาปลากับคนสร้างเขื่อนเท่าเทียมกัน

ทำไม เช่นคนหาปลา ทำไมต้องเท่าเทียมกับคนสร้างเขื่อน ก็ต้องอธิบายว่ามันเกิดอะไรขึ้น เขื่อนมันมีผลยังไงกับคนหาปลา เราไม่ได้บอกว่าศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษย์แค่นั้น แต่เราทำให้เห็น ให้เขาเชื่อด้วยการอธิบายเหตุผล ให้คนหาปลาเขาเชื่อว่าเขามีสิทธิ์พูดคุยและเรียกร้องกับคนสร้างเขื่อนได้ เราไม่สามารถให้ความเท่าเทียมกับชาวบ้านได้ แต่เราสามารถสร้างให้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมและไปสู่ตรงนั้นได้ 

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว 

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ

ผู้อำนวยการสถาบันองค์ความรู้โฮงเฮียนแม่น้ำของ

พฤษภาคม 2565

Share/แชร์

Leave a Reply