Skip to main content

วันที่ 28-29 กรกฎาคม 2565

จัดขึ้น ณ ศูนย์ฝึกข้าราชการครูเชียงของ (Teacher Camp) โรงเรียนหัวเวียงโกศัลย์วิทย์

กิจกรรม Mekong Nature Camp เป็นกิจกรรมต่อเนื่องมาจากกิจกรรม Mekong Dam Monitor โดยมีเป้าหมายเพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินโครงงานการศึกษาเรียนรู้แม่น้ำโขงของนักเรียนในโครงการทั้งหมด 4 โรงเรียน  เพื่อเสริมศักยภาพให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการผลิตโครงงานได้ตรงตามเป้าหมายต่อไป 

กิจกรรมในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 มีการทบทวนการใช้เครื่องมือวัดคุณภาพน้ำ การวัดตะกอน การใช้แอพพริเคชันในการบันทึกผล การล่องเรือสำรวจแม่น้ำโขง และกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน ที่ทำให้เกิดความสนุกสนาน ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 29 กรกฎาคม กิจกรรมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประชาชนผู้ปกป้องแม่น้ำงูแห่งลุ่มน้ำโคลัมเบีย ได้รับความร่วมมือจาก จูเลียน แมทธิวส์ ซึ่งเป็นสมาชิกชนเผ่าเนซเพอร์ซ Nez Perce หรือ นิมิอิปู Nimiipuu มาเล่าถึงเรื่องราวการต่อสู้ของชนพื้นเมืองอเมริกันที่ต้องการดูแลรักษาที่อยู่ของเขา และรักษาปลาแซลมอนที่หายไป เนื่องจากผลกระทบจากการสร้าง เขื่อน และสิ่งที่ Nimiipuu พยายามทำคือเปิดเขื่อนเพื่อให้ปลาแซลมอนว่ายไปได้ ไม่อย่างนั้นมันจะสูญพันธุ์ เขื่อนฆ่าปลาไปจำนวนมาก ถึงแม้รัฐบาลเขาจะพยายามทำร่องน้ำให้ปลาว่ายไป แต่มันก็ไปไม่ได้ จูเลตบอกว่าเขาต้องการให้บริษัทใหญ่ๆ มองเห็นปัญหา มองเห็นคนในพื้นที่ ไม่ใช่จะหาประโยชน์เพื่อใช้พลังงานอย่างเดียว ควรมองเห็นคุณค่าต่อโลกและมนุษย์ด้วย

จากนั้นครูตี๋ (นิวัฒน์ ร้อยแก้ว) โฮงเฮียนแม่น้ำของ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเล่าเรื่องราวของแม่น้ำโขงให้กับจูเลียตฟัง ครูตี๋กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นความสำคัญ เป็นฐานทรัพยากรของคนลุ่มน้ำโขง มันอุดมสมบูรณ์มายาวนาน แต่เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อประมาณ 25 ปีที่ผ่านมา เริ่มเปลี่ยนเมื่อมีเขื่อนตัวแรกเกิดขึ้น ชื่อเขื่อน ‘มานวาน’ ที่สร้างในประเทศจีน หลังจากนั้นก็มีการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันทั้งสายน้ำโขงมี 11 เขื่อน ซึ่งผลกระทบจากเขื่อนมีมากมาย ปัญหาที่เห็นชัดเจนคือ การขึ้นลงของน้ำโขงไม่ปกติ ไม่เป็นไปตามฤดูกาล การหายไปของตะกอนในแม่น้ำโขง ตะกอนถูกกักอยู่หน้าเขื่อน ความอุดมสมบูรณ์ก็ลดลงไปด้วย ประเด็นที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี คือการปล่อยน้ำจากเขื่อนมันไม่เป็นไปตามฤดูกาล เช่นการกักน้ำในฤดูน้ำหลาก เพราะปกติในฤดูฝนน้ำโขงมันต้องยกระดับสูงขึ้น แต่พอมีเขื่อนน้ำมันก็ถูกกักไว้ ไม่ไหลเข้าไปในแม่น้ำสาขา ปลาเข้าไปวางไข่ไม่ได้

       ครูตี๋มองว่าเยาวชนคือพลังที่สำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขง มันต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ในการที่จะลุกขึ้นมาปกป้องแม่น้ำโขง สิ่งที่ทำคือพยายามผลักดัน เชื่อมร้อยเยาวชนให้เขามองเห็นเรื่องราวของโลก เห็นความสำคัญของทรัพยากรในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของโลก นี่คือสิ่งที่เราหวัง และคิดว่าต้องทำ!

จากนั้นได้พานักเรียนในโครงการไปศึกษาเรียนรู้ป่าชุ่มน้ำม่วงชุม ซึ่งถือว่าเป็น มดลูกของแม่น้ำโขง เป็นป่าชุ่มน้ำที่มีความสัมพันธ์กับแม่น้ำ สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนในชุมชน และต้องการให้นักเรียนได้เข้าสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดและตระหนักรู้ว่าเราทุกคนต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสียงเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม

โดยป่าชุ่มน้ำบ้านม่วงชุม ตำบลบ้านครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ 500 ไร่ อยู่ติดกับแม่น้ำอิง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ที่นี่เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ‘เขื่อน’ นำมาสู่ปัญหา เมื่อถึงฤดูกาลน้ำหลากกลับไม่มีน้ำท่วมเข้ามาถึง ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่หายไป ปลาไม่สามารถวางไข่ได้พื้นที่แห่งนี้สำคัญกับชีวิตของคนในชุมชนอย่างมาก และถือได้ว่าเป็นความมั่นคงทางอาหารของชุมชน

สุดท้าย อาจารย์ทิฆัมพร รอดขันเมือง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้มาชวนนักเรียนตระหนักรู้ถึงสิทธิเด็กเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมซึ่ง ได้ตั้งคำถามให้นักเรียนได้ลองคิดตามว่า 

แม่น้ำมีสิทธิ แต่ใครเป็นคนเรียกร้องสิทธิให้กับแม่น้ำ?

หากเกิดปัญหาขึ้นกับแม่น้ำโขงแล้วใครจะเป็นคนส่งเสียง หรือเป็นตัวแทนของแม่น้ำ พร้อมกับเล่าถึงว่า แม่น้ำหลายสายไหลเชื่อมและเกี่ยวข้องกันทั้งหมด แม่น้ำโขงเองก็มีแม่น้ำสาขาย่อย ๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน ห้วย หนอง คลอง บึงใกล้บ้านก็เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญกับพวกเราเช่นเดียวกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำก็ส่งผลกับมนุษย์ทั้งนั้น ฉะนั้นในฐานะที่เป็นเยาวชนและเป็นพลเมืองของโลก เด็กเยาวชนล้วนมีสิทธิที่จะส่งเสียง เพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรสำคัญในบ้านของตนเอง

Share/แชร์

Leave a Reply