Skip to main content

วันที่ 24 พ.ค. – 30 พ.ค. 2567, ประชาชนทัวร์ ประเทศจีน

โดย กลุ่มรักษ์เชียงของ สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ

ก่อนออกบิน (หนี่ห่าว)

นับแต่ ปลายปี พ.ศ. 2560 กลุ่มรักษ์เชียงของ ได้รับเชิญไปร่วมสานเสวนากับองค์กรพัฒนาเอกชน ประเทศจีน องค์กรท้องถิ่นจีนผู้แข็งขันในงานอาสาสมัครแห่งเมืองเซ้าหยางเริ่มเป็นเจ้าภาพรวมกับมหาวิทยาลัย หูหนาน ได้เชิญองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศอาเซียนหลายประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชนจีนนามว่า มูลนิธิ HaiHui ได้เข้าร่วมด้วย เป็นครั้งแรกที่กลุ่มรักษ์เชียงของกับมูลนิธิ HaiHui ได้รู้จักกัน รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน อื่นๆ ในประเทศจีน เราได้สานเสวนากันทุกปีและในช่วงโควิด 19 แพร่ระบาด เราได้สานเสวนากันทางออนไลน์ เพื่อพัฒนาแนวทางการทำงานร่วมกันในการฟื้นฟูนิเวศธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นในลุ่มน้ำโขง โดยการ พัฒนาแนวทางการผลิตและการตลาดข้าวอินทรีย์หรือข้าวธรรมชาติร่วมกัน

หลังโควิด19 สงบลงแล้ว เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิHaiHuiได้มาเยี่ยมพื้นที่การเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะการผลิต ข้าวอินทรีย์ ในอำเภอเชียงของ ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อบริโภคภายในครอบครัวเป็นหลัก เมื่อเหลือ จึงขาย และเริ่มต้นขายผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ในตลาดท้องถิ่น ในช่องทางของแต่ละคน หลังโควิด19 สงบลงแล้ว เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิHaiHuiได้มาเยี่ยมพื้นที่การเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะการผลิตข้าวอินทรีย์ ในอำเภอเชียงของ ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อบริโภคภายในครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิ HaiHui และกลุ่มรักษ์เชียงของ สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ ในการศึกษาหาแนวทางนำ ข้าวอินทรีย์ไทยไปให้ผู้บริโภคแห่งมหานครเฉิงตู มลฑลเสฉวน ได้ชิมรสชาติข้าวเชียงของ-เชียงราย-ข้าวแม่น้ำโขง จากประเทศไทย และเป็นที่มาของการเดินทางศึกษากิจกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิ HaiHui และเรียนรู้จัก เกษตรกรรมอินทรีย์แห่งลุ่มน้ำหมินอันอุดมสมบูรณ์

 

เยือนหมินเจียง ชม  ‘ตู เจียง เยี่ยน’ หลี่ ปิง ขุนนางเจ้าเมืองผู้อัจฉริยะ สร้างและวางรากฐานเหมืองฝายมหัศจรรย์สองพันกว่าปีแห่งนี้

“อัจริยะภูมิปัญญาการจัดการน้ำของจีนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก” ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ผู้มีส่วนร่วมในการผลักดันการศึกษาและแนวทางการพัฒนาข้าวอินทรีย์ และเสนอแนว คิดการจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษข้าวแห่งเมืองเชียงของ  นับแต่การรณรงค์ศึกษาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา เชียงของ หนึ่งเมืองสองแบบ ในยุค 2555-2560

ครูตี๋กล่าวกับเราหลังจากเดินทางกลับมาจากการศึกษาดูงานทั้งที่กุ๊ยโจวและเฉิงตูในครั้งนี้แล้ว แม้สุขภาพ ไม่อำนวยและเดินทางไกลมาหลายวัน แต่ครูตี๋ยังกระตือรือร้นต่อการเรียนรู้ “ตู เจียง เยี่ยน” จนครบตามที่ไกด์เดิน นำพาชมและบรรยายไปอย่างน่าสนใจ

 “…นี่เป็นภูมิปัญญาที่คิดมากว่าสองพันปี ที่กระจายหล่อเลี้ยง พื้นที่เกษตรกรรมและนครเฉิงตูทั้งหมดกว่า 4,800,000 ไร่ มีหนองรับน้ำและกระจายกว่า 20,000 หนองบึง และนี่คือที่มาของความอุดมสมบูรณ์และเจริญ รุ่งเรืองนับกว่าสองพันปีของนครเฉิงตู มลฑลเสฉวน…”

ไม้แกะสลักตามทางเดินสู่ประตูขายตั๋วเข้าชม แผ่นที่กล่าวถึงความเจริญรุ่งเรืองของแม่น้ำมิน

วันที่ 26 พฤษภาคม 2567 เราออกเดินทางจากโรงแรมเจมส์ จอยซ์ คอฟฟีเทล เฉิงตู มุ่งหน้าไปตูเจียงเยี่ยน กันแต่เช้า ก่อนหน้าที่เรามาถึงที่นี่ เพื่อนจากมูลนิธิ HaiHui บอกเราว่า อากาศหนาวเย็นให้เตรียมเสื้อผ้าหนาๆ มาด้วย เมื่อมาถึงอากาศอุ่นขึ้นและฝนตกต้อนรับ ยามเช้าอากาศเย็นสบาย สองข้างถนนในนครเฉิงตู มีต้นไม้สีเขียวมากมาย ตามมุมเล็กมุมน้อยมีสวนหรือพื้นที่สีเขียวรวมถึงให้คนได้ใช้ออกกำลังกาย เราโดยสาร รถบัสเหมาจ่ายไปท่ามกลางรถยนต์ขับ เคลื่อนด้วยพลังานไฟฟ้าอยู่มากมาย ทำให้ถนนหนทางไม่มีเสียงวุ่นวาย เมืองนี้ประชาชนจีนต่างยกให้เป็นเมืองพักผ่อน อาหารการกิน  การท่องเที่ยว ทางธรรมชาติและทางการเกษตร ว่ากันว่า เมืองเฉิงตูเป็นเมืองที่มีตัวเลขเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงแล้วยังเป็นเมืองที่มีความสุขในระดับสูง ด้วยเกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์

ทัศนียภาพตูเจียงเยี่ยนจากมุมหอชมฝายมหัศจรรย์สองพันปี

ฝายโบราณตู่เจียงเยี่ยนคือรากฐานของความอุดมสมบูรณ์และความสุขของคนเฉิงตู  ฝายกั้นน้ำเพื่อการ เกษตรและป้องกันน้ำท่วมของลุ่มแม่น้ำหมินที่สายน้ำไหลละลายมาจากภูเขาหิมะแล้วไหลผ่านฝาย ตู เจียง เยี่ยนแล้วได้ไหลหล่อเลี้ยงเกษตรกรรมและเมืองเฉิงตูมาแต่โบราณ แม่น้ำหมินไหลไปจนพบกับแม่น้ำแยงซี ซึ่งไหลลงทะเลจีนตะวันออก

ระหว่างที่ชมจุดการผันน้ำสำคัญภูเขาและหินผาใหญ่กั้นแกร่งตระง่านเมื่อยามสองพันกว่าปีมาแล้ว วิศวกรใช้วิธีอะไรในการเจาะภูเขาเบี่ยงทางน้ำในสองพันกว่าปีที่ผ่านมา?

 ไกด์ถามเราว่าพวกเราพอจะเดาถูกไหม หนึ่งในพวกเราตอบว่า

“เอาไฟเผาในหน้าแล้งแล้วเอาน้ำสาด…”

เพื่อนชาวจีนของเราแปลกใจเราตอบถูก

 ในขณะที่มีคำหนึ่งลอยมาอีกว่า

“น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน”

 อย่างไรก็ตาม เหมืองฝายโบราณนี้ทำให้พวกเรานึกถึงเหมืองฝายอายุสักร้อยสองร้อยปี หรืออย่างดีคือ ห้าหกร้อยปีที่ไม่น่าหลงเหลืออยู่แล้วในวัฒนธรรมการทำนาเหมืองฝายโดยคนไตยวน ล้านนา หรือคนใน เขตภูดอยหุบเขาที่ราบเล็กๆ ในภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน เรายังทึ่งกับการออกแบบการไหลของน้ำ และจัดการตะกอนดินที่กลมกลืนใกล้เคียงกับธรรมชาติ หากวงวิชาการการพัฒนาอย่างยั่งยืนน่าจะใช้คำว่า การจัดการโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน( Natural Base Solution) โดยวิศวกรผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตของจีน นาม “หลี่ปิง” เป็นขุนนางแคว้นฉิน (จิ๋น) ในยุคจ้านกว๋อ ประมาณ พ.ศ. 287 ฉินจาวซางหวางแต่งตั้งเขาเป็นข้าหลวงเมืองสู่ อันได้แก่มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน[1]

ระบบจัดการนี้ได้สืบสานต่อกันมาตลอดประวัติศาสตร์ของจีน ในยุคสาธารณรัฐ ทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ จีนโดยท่านประธานเหมา เจอตง, เติ้ง เสี่ยวผิง, ฯลฯ ต่างให้ความสำคัญขยับขยายโครงการชลประทานเดิม ของหลี่ปิงให้กระจายทั่วทั้งเมืองเฉิงตูก็ว่าได้ ระบบการจัดการน้ำที่เอื้อประโยชน์ให้เมืองเฉิงตู จนรับได้สมญานามว่า เมืองสวรรค์ (จีน:天府之国 Tian Fu Zhi Guo) มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชผักธัญญาหาร มีวัฒนธรรมการกินที่หลากหลายแหล่งปัจจัยการผลิตทั้ง ดิน น้ำ ป่า อากาศ มีการจัดการอย่างเหมาะสม รวมอุณหภูมิและสภาพอากาศที่ไม่รุนแรงเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชผัก ปลายังมีแหวกว่ายในสายน้ำเชี่ยว นกเกาะต้นไม้แล้วโฉบลงแอ่งรับดินโคลนตะกอนของฝาย เสียงสายน้ำนำพาสู่แผ่นดินแม่น้ำโขงล้านนา แววเสียงหนึ่งในใจเราก้องสะท้อน

“…อย่าทำหินแตก อย่าแยกแม่น้ำ” 

ถือว่าจุดหมายที่สำคัญที่ผู้มาเยือนเมืองเฉินตูต้องไม่พลาดในการเรียนรู้ เส้นทางเดินเท้าไปชมฝาย ตู เจียง เยี่ยน ได้จัดระบบสื่อความหมายที่มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นนำสื่อความหมายตลอดเส้นทาง พร้อมหูฟังแปลภาษาแก่ ผู้มาเยือนจากต่างประเทศ  สภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นป่าธรรมชาติที่มีสิ่งก่อสร้างสื่อความหมาย ตูจางเยียน และหลี่ปิง วิศวกรอัจฉริยะที่ได้ออกแบบฝายและคลองส่งน้ำ การจัดการน้ำที่รักษาความสมดุลของ ระบบนิเวศแม่น้ำหมินเป็นมรดกให้คนเฉิงตู มลฑลเสฉวน  สาธารณรัฐประชาชนจีน และกลายเป็นมรดกโลก ที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโกในปี 2543

ภาพวาดฝาผนังใกล้สำนักงาน HaiHui เฉิงตู

กลุ่มสตรีแม่ของกวีแห่งเหมยซาน ปัญหาของผู้หญิงส่วนใหญ่มาจากผู้ชาย การทำงานไปแก้ไขปัญหาจึงต้องดำเนินกิจกรรมโดยตรงต่อผู้ชาย…

เช้าอีกวัน (27 พ.ค. 2567) เราออกเดินทางไปยังเมืองเหมยซาน เยือนพื้นที่ทำงานของมูลนิธิ HaiHui ณ สมาคมส่งเสริมและพัฒนาความรว่มมือเด็กและสตรีในชนบทของอำเภอชิงเชิน) เมืองเหมยซาน มณฑลเสฉวน 四川青神县乡村妇女儿童合作发展促进会(Sichuan Qingshen County Rural Women and Children Cooperative Development Promotion Association) ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนและเสริมสร้างบทบาทของผู้หญิงในชนบทของอำเภอ ชิงเชิน  โดยการส่งเสริมอาชีพแก่ผู้หญิง เช่นการทำดอกไม้ประดิษฐ์จากไหมประดิษฐ์ที่หลากหลายรูปแบบ การทำตุ๊กตาผ้า การทำงานไม้ไผ่ซึ่งนับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้มากที่สุด โดยรับออเดอร์มาจากโรงงาน มีการอบรมการทำไม้ไผ่ เทคนิคการทำงานศิลปะ  การตลาดที่ขายโดยตรงด้วยตนเองโดยระบบออนไลน์  นี่เป็นกลุ่มสหกรณ์ของผู้หญิง ปัจจุบันสมาชิกมากกว่า 100 คน รัฐได้สนับสนุนงบประมาณเงินกู้ยืมแก่สมาชิก เพื่อการลงทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ยจำนวน 4,500 หยวน ภายในหนึ่งปี

นอกจากนี้ ศูนย์สตรีเมืองเหมยซานในวันที่เราไปดูงาน พวกเขาก็ติดภาระในการประชุมกับสภาสตรี “ตู เจียง เยี่ยน” ด้วย อย่างไรก็ตาม เราก็ได้ดูสารคดีของสภาสตรีตูเจียงเยี่ยนแทน แม้นไม่ได้พบเจอกัน พวกเขาทำงานกับสตรี คุณแม่ที่ยากจนให้ได้มีรายได้มีอาชีพ และทำให้เด็กหรือลูกได้เติมโตดี ตัวแทนนำ เสนอและเป็นประธานกลุ่มสตรีเมืองเหมยซาน เล่าว่า มูลนิธิ HaiHui เป็นผู้นำพาการทำกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ เหล่านี้ในกลุ่มสตรีเหมยซาน ที่เป็นองค์กรขนาดเล็ก ไม่มีทุนสนับสนุน  การที่มูลนิธิ HaiHui มาเริ่มสนับสนุน และอีกหลากหลายองค์กรมาร่วมมือกันทำงาน เช่น โครงการศิลปะเด็กที่ได้ทุนสนับสนุนจากธนาคารกลางปารีส สำนักงานไต้หวัน ส่งอาสาสมัครมาสอนศิลปะเด็กถึงบ้านพ่อแม่ที่โดนดำเนินคดีติดคุกจากข้อหาต่างๆ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ยาเสพติด โครงการนี้ได้ดำเนินการมาสี่ปีแล้ว ท่านประธานกลุ่มสตรีเหมยซาน ซึ่งเป็นผู้ชาย กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวหรือปัญหาครอบครัว ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากผู้ชาย การทำงานของเรานอกจากทำงานกิจกรรมที่หลากหลายกับกลุ่มสตรีแล้ว เราจำเป็นต้องไปแก้ไขปัญหาโดยตรง ที่ตัวผู้ชายด้วย…

กลุ่มสตรีเหมยซาน ยังได้ทำกิจกรรมส่งเสริมอาสาสมัครศิลปินหรืออาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาสอนศิลปะ ให้เด็กๆ ได้เป็นมืออาชีพทางศิลปวัฒนธรรมต่อไป รวมถึงสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือทางศิลปวัฒนธรรม ดนตรี สี กระดาษ พู่กัน ฯลฯ โครงการสนับสนุนทุนเล่าเรียนสำหรับเด็กที่ยากจนมากว่าสิบปีจากธนาคารฮ่องกง

โครงการอาสาสมัครดูแลเด็กยากจนและอีกหลายโครงการที่ได้รับทุนจากแหล่งทุนต่างกัน ปัจจัยสำคัญคือ กำลังอาสาสมัครที่ดูแลเด็กกลุ่มบอบบางที่ทำหน้าที่คล้ายผู้ปกครอง รวมไปถึงการจัดกิจกรรมค่ายดูแลทางจิตใจ หากพ่อแม่ผู้ปกครองที่ติดคุกก็จัดให้ยายกับตาไปเยี่ยมพ่อแม่ที่อยู่ในคุกด้วย หรือการประชุมออนไลน์ให้เด็ก ได้สื่อสารกับพ่อแม่ที่อยู่ในคุก เด็กๆ ก็รอพ่อแม่และอยากให้ออกจากคุกไวๆ โครงการกระตุ้นอาสาสมัครให้ร่วมเป็น ผู้ให้ความช่วยเหลือคนเหล่านี้

โครงการส่งเสริมศิลปะของแม่ซึ่งแม่ของมหากวีดัง ซูตุงพอ เป็นคนเมืองเหมยซาน พวกเธอจึงตั้งชื่อ โครงการให้เป็นเกียรติแก่แม่ของมหากวีชาวจีน ซึ่งได้อบรม ซูซื่อ (ชื่อเดิม) เขาเกิดในยุคสมัยซ่ง เมื่อปี พ.ศ. 1580  (1037年1月8日) อันเป็นยุคสมัยตรงกับยุควัฒนธรรมขอม-มอญ ตอนปลาย (คือสมัยแคว้นโยนกนาคพันธุ์ หรือหิรัญนครเงินยาง ก่อนที่พญามังรายจะรวบรวมแว่นแคว่นต่างๆเป็นอาณาจักรล้านนา) มารดาของท่าน ได้ปลูกฝังเรื่องราววีรกรรมของบุคคลต่างๆ เพื่อให้ท่านกวีมีความรักชาติ รักประเทศตลอดจนรู้จัก อุทิศตนเพื่อประโยชน์สาธารณะ…  ซูตงพอเป็นมหากวีที่ถูกย้ายด้วยเหตุจากการเขียนกวีของท่าน ในหลายครั้งหลายคราจากจักรพรรดิ์จีนในยุคนั้น นอกจากนี้ซูตงพอยังมีความสามารถความรู้ในการจัดการน้ำ ด้วยทำนบหรือเหมืองฝายฝากไว้ในแผ่นดินจีนหลายที่

 

ชมดินแดนแห่งสวนส้มจีนแมนดารินพองแกน

บทกวีชื่อ ม่อเหมียวถิงจี้ (墨妙亭记) มีใจความที่สำคัญต่ออำนาจราชการในยุคนั้นว่า :
สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา(การปฏิรูป)จักต้องเสื่อมสลายไป
มนษยชาตินั้นมีชีวิตอยู่ สักวันก็ต้องตายไป
มิฉะนั้นความมั่งคั่งของชาติก็จักต้องประสบหายนะล่มจมแหลกสลาย
แม้นว่าทุกคนจะรับรู้เรื่องนี้ ทว่าก็ต่างมุ่งรักษาอำนาจและสถานภาพ
ดูแลแต่สุขภาพตัวเอง พยายามทุกวิธีที่จะยืดชีวิตตนเอง
พยายามเลื่อนความตายให้ขยับออกไป
บัดนี้จึงเห็นได้ว่าผู้มีอำนาจล้วนโลเลลังเล
เฝ้ารักษาตัวรอดมิให้ได้อันตรายกระทั่งสักวันต้องถึงวาระสุดท้าย ซึ่งเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงมิได้!”

หลังจากดูงานที่ศูนย์สตรีเมืองเหมยซานแล้วเราไปรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกันแล้วมุ่งสู่ดินแดนแห่งต้น ส้มจีนสายพันธุ์พองแกน ของ เมืองเฉิงตู มลฑลเสฉวน ไม่ไกลจากเมืองเหมยซานมากนัก เราเข้าเยี่ยมชม กลุ่มชุมชนสวนส้ม ซึ่งเริ่มต้นจากคนรุ่นใหม่ของจีน กลับบ้านมาเช่าที่รวมกลุ่มชาวบ้านปลูกส้มพองแกน แล้วนำไปขายทางออนไลน์และสะสมเงินทุนจัดตั้งโรงเก็บส้ม ทั้งห้องเย็นและการคัดเลือกเองแถบนี้เป็นดินแดนแห่งต้นส้ม ที่ต้นส้มมีขนาดใหญ่ บ่งบอกถึงอายุที่ปลูกมานาน เป็นต้นส้มที่เจริญเติบโต จากเมล็ดส้มดั้งเดิมของเมืองเสฉวน

การทำเกษตรสวนส้มของคนในชุมชนมีการรวมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์ เพื่อการสนับสนุนของรัฐ ทางกลุ่มเป็นผู้ตั้งราคาผลผลิตส้มพองแกนด้วยตนเองส่วนหนึ่ง แต่ถ้าราคาส้มตกต่ำ เนื่องเพราะมี ผลผลิตสู่ตลาดมาก ทางกลุ่มแก้ปัญหาโดยการเก็บผลไม้ไว้ในห้องเย็น เพื่อสามารถนำออกขายในช่วงนอกฤดู ที่ผลผลิตส้มมีน้อย ได้ราคาที่พึงพอใจ รวมทั้งการแปรรูปโดยใช้เตาอบแห้ง การดอง ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ การนำเอาลูกส้มขนาดเล็กที่ถูกตัดออกจากการตกแต่งต้นส้ม เจ้าของสวนนำมาตากแห้งแล้วนำไปแปรรูป ทำเป็นชาเพื่อซงดื่มแก้กระหายที่นับเป็นยาสมุนไพรจีนที่ได้รับความนิยมตลอดมา 

กลุ่มเกษตกรข้าวอินทรีย์เชียงของแลกเปลี่ยนของที่ระลึกระหว่างส้มและข้าว

ชาวนาแห่งหย่งเฟิ่งที่ยังนิยมอ่านบทกวี สร้างชุมชนให้งดงามด้วยทุ่งนาและหนองบึงบำบัดน้ำเสียตามธรรมชาติ

จากชุมชนสวนส้มบนพื้นที่ดินที่เป็นดินเก่ามีลักษณะเหมาะสมสำหรับการเกษตรปลูกส้ม เราลาเจ้าของสวน ด้วยการแนะนำของขวัญคือข้าวอินทรีย์จากเชียงของให้ได้ลองหุงชิมดู เจ้าของสวนเลยรีบไปตัดผลส้มสุกทองพองแกน ฝากเราถุงใบใหญ่ หลังจากนั้นเราเดินทางไปยังหมู่บ้านชาวนาที่ยังส่งเสริมการอ่านบทกวีของ “ซูตงพอ” ที่แห่งนั้นคือ หมู่บ้าน Yong Feng ตำบล Dong Po เมือง Mei Shan มลฑลเสฉวน

การทำนาของกลุ่มชาวนาที่นี่ดำเนินการในรูปแบบคล้ายสหกรณ์เพื่อรวบรวมและตั้งราคาข้าวร่วมกัน การแปรรูปข้าว การทำนาเป็นรูปแบบนาดำทำปีละหนึ่งครั้ง ปัจจุบันมีใช้เทคโนโลยีรถไถพรวนดิน รถปลูกข้าว มีระบบการจัดการน้ำโดยเหมืองคอนกรีตส่งน้ำเข้าแปลงนาแต่ละแปลง รวมทั้งมีถนนคอนกรีตเข้าถึงทุกแปลง มีแสงไฟล่อจับแมลงศัตรูพืชแบบโซล่าเชลล์อยู่กลางทุ่งนา

ชาวนาผู้นิยมอ่านบทกวี

ที่น่าสนใจคือภูมิทัศน์นาแปลงเล็กตามหุบเขามีบ้านหรือการสร้างบ้านแทรกอยู่บนเนินที่ติดกับที่นา โดยมีการปลูกต้นไม้สวนผลไม้ พืชผักกินได้อยู่รอบๆบริเวณบ้าน

ผู้ใหญ่บ้านนำเราเดินชมแปลงนาและชมหนองน้ำบึงบัวที่ใช้บำบัดน้ำทั้งหมู่บ้าน ก่อนปล่อยลงหนองบัวกลางหมู่บ้าน ท่านเล่าว่า ท่านประธานสี จิ้นผิง ได้เดินทางมาเยี่ยมหมู่บ้านนี้ เส้นทางที่เราเดินชมคือเส้นทางที่ท่านประธานสีได้เดินมาก่อน พวกเรากำลังเดินตามท่านประธานสี ชมความงามของหมู่บ้านหย่งเฟิ่งแล้วถ่ายรูปและแลกเปลี่ยนของขวัญร่วมกันระหว่างชาวนาเกษตรอินทรีย์เชียงของกับชาวนาข้าวแห่งหย่งเฟิ่งที่มุ่งมั่นผลิตอาหารหล่อเลี้ยงคนจีน 

เราลาจากที่นี้จริงๆ ด้วยการซื้อของชำร่วย ของฝาก ผลิตภัณฑ์จากข้าวมีมากมาย ที่นี่มีร้านหนังสือบรรจุ หนังสือหลายประเภท ทั้งเกษตรกรรมและบทกวี วางเข้าชั้นไว้มากมายเช่นกันโดยเฉพาะหนังสือของมหากวีซูตงพอ ที่ดูเหมือนชาวนาที่นี่ยังอ่านบทกวีกันอยู่ ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า ส่งเสริมหนังสือและกวีนิพนธ์ของท่าน เพราะท่านคือคนเฉิงตูและมีคุณูปการต่อการเกษตรด้วยเป็นผู้หนึ่งในการสร้างทำนบเหมืองฝาย หรือสระน้ำไว้ให้คนจีนในท้องถิ่นต่างๆ ได้มีน้ำในการทำเกษตรกรรม

น่าทึ่งที่ชาวนาเฉิงตูยังนิยมอ่านบทกวีกันอยู่!

ที่นี่เราพบกระเป๋าสะพายแบบเก่ามีรูปเหมา เจอตง สกรีนไว้อย่างเท่จนเราถามซื้อเพื่อนำไปฝากเพื่อน ที่เมืองไทย อย่างไรก็ตาม กระเป๋าใบนี้เป็นต้นฉบับที่มีไว้แสดงในร้านของสหกรณ์ชาวนาหย่งเฟิ่ง ไม่ได้มีไว้ขาย ทำเอาเราผิดหวังเล็กน้อย พวกเขาแนะนำว่า สามารถหาซื้อได้ในตลาดเก่าของเมืองเฉิงตู

วันนี้เราลาจากทุ่งนาหย่งเฟิ่งที่มีรถไฟฟ้าความเร็วสูงวิ่งผ่านในยามพระอาทิตย์ต้องสีเขียวทุ่งนากับสีของรถไฟฟ้าวิ่งเร็วผ่านไป ยามเย็นเราได้รับประทานอาหารเฉิงตูที่มีรสชาเด้าลิ้นร้อนซ่าในเกือบทุกเมนู พริกแดงผัดน้ำมันและหม่าล่ามีส่วนประกอบในแทบทุกจานอาหาร เมืองเฉิงตูเป็นมหานครแห่งอาหารการกิน ดูเหมือนว่า คนที่นี่ใส่ใจอาหารการกินกันทุกมื้อ

แม้นจะล้มเหลวแต่จงลุกขึ้นใหม่ ไม่ยอมแพ้..

รุ่งเช้าวันที่ 28 พ.ค.

เราเดินทางไปดูสวนเกษตรของเอกชนเป็นผู้ดำเนินการโดยเช่าที่ดินจากรัฐเพื่อทำสวนเกษตรอินทรีย์ ด้วยมีพื้นฐานทางธุรกิจมาก่อนจึงลงทุนในการเลี้ยงเป็ดไก่อินทรีย์ไปหลายหมื่นตัวในปีแรก แต่สัตว์เลี้ยง ตายเกือบหมดฟาร์ม เธอจึงเริ่มต้นใหม่ ไม่ยอมแพ้ ด้วยตนเองอยากกินอาหารที่ปลอดภัย และลดค่าใช้จ่าย ในครอบครัว ประสบการณ์ในการเลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่แบบอินทรีย์ แม้ในระยะเริ่มต้นที่ล้มเหลวหลายครั้ง แต่เจ้าของสวนมีความพยายามค้นหาคำตอบในรูปแบบที่หลากหลาย จนได้คำตอบในที่สุด 

ปัจจุบันมีไก่เนื้อและไข่ไก่ขายในราคาที่สามารถกำหนดเองได้  มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเอง โดยเริ่มจากกการซื้อพันธุ์ดั้งเดิมมาจากบริษัท จากนั้นนำมาปลูกคัดเลือกพันธุ์ของตนเอง

มีตัวอย่างการใช้สมุนไพรจากพืชมาช่วยไล่แมลงศัตรูของไก่ และสัตว์เลี้ยง โดยใช้กลิ่นจากใบไม้ มีระบบการกำจัดน้ำเสียจากบ่อปลามาบำบัดโดยการเติมอ๊อกซิเจน และให้ไหลผ่านบ่อน้ำขนาดเล็กต่อเนื่อง จำนวน ๙ บ่อ แต่ละบ่อจะมีต้นพืชแตกต่างกัน เริ่มบ่อแรกจะเป็นบ่อที่ปลูกต้นพุทธรักษา  บ่อต่อมาปลูกต้นบัว ผักบุ้ง ผักคื่นฉ่าย บัวลอย แต่ละบ่อจะมีต้นหญ้าเล็กๆขึ้นปน น้ำจากบ่อสุดท้ายติดตั้งปั้มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ปั้มน้ำเพื่อนำน้ำกลับไปเติมให้บ่อปลา เพื่อสร้างความสมดุลย์ของน้ำในบ่อเลี้ยงปลา  ใช้กระเทียมสดทุบ เป็นการฆ่าเชื้อ  ในแต่ละแปลงได้ร่วมมือกับโรงเรียนในท้องถิ่น การบูรณาการหลักสูตรให้เด็กนักเรียนมาลงมือ ปฏิบัติปลูกพืชผัก และการเรียนรู้นิเวศเกษตรอินทรีย์ มีโซนของการเรียนรู้ด้วยโครงงาน, การตรวจวัดคุณภาพน้ำ โดยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยและอาจารย์มาช่วยด้วย เช่นเดียวกับการนำหลักของเต๋า หยินหยาง มาสร้างดุลยภาพ ของน้ำและแปลงผัก หรือการใช้วิธีธรรมชาติในการแก้ไขปัญหา ที่นี่เป็นสวนเกษตรอินทรีย์ของเอกชนที่มีส่วน ของร้านค้า ร้านอาหาร และการขายผลผลิตโดยตรงต่อผู้บริโภคของเมืองเฉิงตู

ศูนย์ HaiHui แห่งนครเฉิงตูกับความร่วมมือศึกษาพัฒนาหาแนวทางการผลิต-การพัฒนาการตลาดข้าวอินทรีย์แห่งลุ่มน้ำโขง จ.เชียงราย

วันที่ 29 พ.ค.2567

ชาวนาเชียงของและกลุ่มรักษ์เชียงของได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับศูนย์พัฒนาเพื่อลดความอดยากของมูลนิธิ HaiHui และเครือข่ายหุ้นส่วนการพัฒนาของ HaiHui อีก 8 องค์กร เพื่อแนะนำตัวองค์กรและแลกเปลี่ยน การทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่คนและชุมชนทั้งในภาคชนบทและในเมืองใหญ่ ทั้งการพัฒนาอาชีพเสริม แก่คนในชุมชน เช่น การส่งเสริมการเลี้ยงแพะ กระต่าย การแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง นอกจากจะทำงาน กับกลุ่มผู้หญิงแล้ว ทางองค์กรเครือข่ายยังทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ชาย รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทในสังคมแก่ผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงเรียนรู้คุณค่าของตนเองมากกว่าการหารายได้ เช่น  การจัดตั้งสภาผู้หญิง กลุ่มออมทรัพย์สตรี มีการทำงานร่วมกับ ทั้งนักกฎหมาย นักจิตวิทยา ปัจจุบันมี ๕ แหล่งทุนที่สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรม โครงการต่างๆ และทางรัฐได้ประกาศให้วันที่ ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง ของประเทศจีน

ประเด็นเด็กกลุ่มเสี่ยงผู้บอบบางที่ผู้ปกครองหรือพ่อแม่ได้รับโทษหรือติดคุก หรือเสียชีวิต ให้มีความหวัง ทางองค์กรได้เริ่มมามากกว่า๑๐ปี ปัจจุบันมีอาสาสมัครเข้าไปทำงานกับเด็กถึงบ้านในชุมชน โดยไปจัดกิจกรรม ค่ายศิลปะวาดภาพ การออกกำลังกาย การเล่นดนตรี หรือมอบของขวัญให้เด็ก รวมทั้งเสริมสร้างเรียนรู้ การประชุมออนไลน์ร่วมกับเด็กและผู้ปกครองหรือพ่อแม่

กลุ่มรักษ์เชียงของ สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ ได้แลกเปลี่ยนถึงแนวทาง ความเป็นไปได้ในการจัดการเดินทางเรียนรู้ให้ครอบครัวเด็กซึ่งเป็นครอบครัวกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูงที่ห่วงใย สุขภาพและสิ่งแวดล้อมไปเรียนรู้แม่น้ำโขงและการเกษตรอินทรีย์ รวมถึงวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ณ จ.เชียงรายในโอกาสต่อไป รวมไปถึงแนวทางการจัดการเดินทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้นาข้าวอินทรีย์ โดยเครือข่ายฯ ของ HaiHui มีผู้บริโภคข้าวอินทรีย์และอาหารอินทรีย์อื่นๆ เป็นจำนวนมาก การเริ่มต้นดำเนินโครงการวิจัยศึกษา แนวทางการผลิตและการตลาดข้าวอินทรีย์ จังหวัดเชียงราย ที่จะมุ่งไปสู่การพัฒนาให้ผู้ผลิตได้พบกับผู้บริโภค และสามารถตั้งราคาค้าขายกันโดยตรงและไปมาหาสู่ดังญาติมิตรในการไปร่วมกันตรวจคุณภาพดินน้ำและผลผลิตในทุ่งนาแห่งลุ่มน้ำโขงจังหวัดเชียงราย

ประเด็นการพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ร่วมกันระหว่างสถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของกับมูลนิธิไฮฮุย ได้เซนต์สัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกันในการสนับสนุนทำงานในหนึ่งปี โดยได้สนับสนุนงบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการสำรวจข้อมูลและสนทนากลุ่มย่อย ประชุมชุมชน ในเรื่องสถานภาพและแนวทางการ พัฒนาเกษตรข้าวอินทรีย์ของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน  ได้แก่ บ้านบุญเรือง เป็นกลุ่มเกษตรที่นาแปลงใหญ่ บ้านน้ำม้าและบ้านสถาน บ้านหวาย ตำบลศรีดอนชัย เป็นกลุ่มเกษตรกร ที่มีการรวมกลุ่มเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์โดยใช้มาตรฐาน MOA ของประเทศญี่ปุ่น ส่วนกลุ่มเกษตรกร บ้านหวาย ตำบลศรีดอนชัย เพิ่งเริ่มต้นทำเกษตรปลอดภัยสู่มาตรฐาน GAP  และกลุ่มเกษตรกรบ้านปงของ อำเภอเชียงแสน ที่มีพื้นฐานความรู้ประสบการณ์การปลูกข้าวเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ทั้งหมด ได้ขายให้กับกรมวิชาการเกษตร เพื่อนำไปขายเป็นเมล็ดพันธุ์แก่เกษตรกรในฤดูกาลเพาะปลูกข้าวปีต่อไป  รวมทั้งข้อมูลนโยบาย การสนับสนุนด้านงบประมาณของรัฐ หน่วยงานในพื้นที่เพื่อวางแนวทางการพัฒนาเกษตร อินทรีย์ของแต่ละแปลง แต่ละกลุ่ม ในการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านสิบปีต่อไป

ก่อนลาจากเมืองสวรรค์

เราร่ำลาสหาย HaiHui ของเราด้วยการกินหม้อไฟสไตล์เฉิงตู พร้อมกับที่เกษตรกรเกษตรอินทรีย์ กลุ่มตลาดสีเขียวได้มอบภาพและงานหัตถกรรมของกลุ่มข้าวอินทรีย์ เป็นที่ระลึกก่อนจาก ส่วนรักษ์เชียงของได้มอบเสื้อและกระเป๋าใบงามของห้องสมุดดิจิตอลโฮงเฮียนแม่น้ำของ (แสงดาวศรัทธามั่น) เป็นที่ระลึกหมุดหมายก่อนจาก วันกลับวันที่ 30 พ.ค. เราได้รับเกียรติจากท่านประธานเฉิน แห่งมูลนิธิ HaiHui ขับรถสำนักงานมาส่งพวกเราที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่ไปยังสนามบินใหม่เทียนฟูเฉิงตู ขณะขับรถอยู่นั้น ท่านประธานเฉินได้บอกกับเราว่า เขาจะเริ่มสร้างโรงเรียนชาวนาขึ้นอย่างที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ ได้ดำเนินการ ทำงานมวลชนกับประชาชน เกษตรกร เพื่อสร้างความเข็มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและชุมชนโลกร่วมกัน

บ่ายเมื่อวานหลังจากกินข้าวเที่ยงกันแล้ว ประธานเฉินได้ขับรถนำเราไปเยี่ยมชมอนุสาวรีย์ของเหมา เจอตุง ผู้ยิ่งใหญ่ เราได้ร่วมโบกมือห้านิ้วร่วมกันถึงสองครั้งเบื้องหลังที่ท่านประธานเหมายืนโบกมือให้กำลังใจ ต่อแผนสิบปีของเราอยู่ข้างหลังของเรา

ไจ้เจี้ยน (Zàijiàn 再见)

ใครคนหนึ่งยิ้มและหวังว่าวันหนึ่งจะได้กลับมาเป็นอาสาสมัครของโรงเรียนชาวนาแห่งเฉิงตู…

ไจ้เจี้ยน (Zàijiàn 再见)

เจอกันใหม่เจ้า

Share/แชร์

Leave a Reply