การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ด้านน้ำในโครงการภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขงของการประชุมเชิงปฏิบัติการการให้คำปรึกษาระดับภูมิภาคความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ครั้งที่ 1
ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ณ สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ โดยการประสานงานของ SEI และ ONWR ได้นำนักวิชาการด้านการจัดการน้ำรุ่นใหม่จาก 6 ประเทศแม่น้ำโขงคือจีน, เมียนมาร์, ลาว, ไทย, กัมพูชาและเวียดนาม จำนวน 35 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มรักษ์เชียงของ โฮงเฮียนแม่น้ำของ และตัวแทนเครือข่ายเยาวชนแม่น้ำโขง กว่า 10 คน การลงพื้นที่ของคณะประชุมเชิงปฏิบัติการการให้คำปรึกษาด้านการจัดการน้ำระดับภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในครั้งนี้สนับสนุนโดยโครงการความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC) ของรัฐบาลจีน วัตถุประสงค์ของการเยือนครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงศึกษาและเสริมสร้างความเข้าใจแต่ละประเทศในการจัดการแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวและสำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นพรัตน์ ละมุล ผู้จัดการและประสานงานโครงการของโฮงเฮียนแม่น้ำของ ได้แนะนำโฮงเฮียนแม่น้ำของ, พัฒนาการทางประวัติศาสตร์, สถานการณ์พื้นฐานของแม่น้ำโขง แล้วจัดกระบวนการแบ่งผู้เข้าร่วมเป็น 4 กลุ่ม เพื่อหารือและอภิปรายหา “ความเหมือนในความต่างและความต่างในความเหมือนของพญานาคกับพญามังกร”
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีตำนานเล่าว่า แม่น้ำโขงเกิดจากพญานาค (Phaya Nak or Nagas) เมื่อนานมาแล้ว ตั้งแต่นั้นมา พญานาคก็อาศัยอยู่ที่ก้นแม่น้ำโขงตลอดทั้งปี ควบคุมแม่น้ำและปริมาณน้ำฝนและเป็นที่รู้จักในฐานะนักบุญอุปถัมภ์ของแม่น้ำโขง เนื่องจากพญานาคคล้ายกับพญามังกร (จีน: 龙王 หลงหวัง) ตามคติศาสนาชาวบ้านจีน การแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างสนุก แต่ละกลุ่มได้นำเสนอผลของตนแล้วช่วยกันอภิปรายเพิ่มเติม คติความเชื่อทั้งนาคและมังกรต่างสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของธรรมชาติแม่น้ำโขงกับผู้คน ผู้เข้าร่วมต่างเห็นถึงความคาดหวังที่ดีของทุกคนในการปกป้องแม่น้ำโขง
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของและผู้อำนวยการสถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่น เล่าให้ทุกคนฟังถึงความพยายาม ทุ่มเท ใช้พละกําลังที่มีพร้อมทีมงานได้ทุ่มเทเพื่อปกป้องแม่น้ำโขงตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา เขาได้กล่าวอีกว่า “ประชาชนทั้ง 6 ประเทศดื่มน้ำในแม่น้ำสายเดียวกัน ดังนั้น ในเรื่องการปกป้องแม่น้ำโขงทุกท่านควรร่วมมือกัน และเจรจาร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง”
กิจกรรมสุดท้ายดำเนินการโดยตัวแทนโครงการเยาวชนแม่น้ำโขง จ.เชียงราย พุทธชาติ ลิมพิสร และ ศิริยากร แก้วเกตุ นักเรียนมัธยมปลายจากโรงเรียนบ้านแซววิทยาคม อ.เชียงแสน
น้องภูมิและรุ้งสาธิตวิธีทดสอบคุณภาพน้ำ ความสนใจของทุกคนถูกดึงดูดด้วยคำอธิบายที่ชัดเจนของทั้งสองคน และต่างคาดเดากันว่า ผลการตรวจคุณภาพน้ำเป็นอย่างใด หลังจากนั้น ทุกคนพูดคุยกันและถ่ายรูปหมู่ ณ ริมแม่น้ำโขง โฮงเฮียนแม่น้ำของ เพื่อเก็บความทรงจำที่งดงามไว้ เมื่อรับประทานอาหารกลางวันเสร็จคณะก็มุ่งหน้าไปยังจุดหมายต่อไป
รายงาน : ตง จื้อวาน
บรรณาธิการ : นพรัตน์ ละมุล