Skip to main content

“ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกของแม่น้ำไหนเราก็คือลูกแม่น้ำเหมือนกัน”

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ตามวันของประเทศไทย นายนิวัตน์ ร้อยแก้ว ผู้อำนวยการโฮงเฮียนแม่น้ำของและนักเคลื่อนไหวชาวล้านนา ได้เดินทางไปเยือนอเมริกาเพื่อเข้ารับรางวัล Chang-Lin Tien Distinguished Leadership Award ประจำปี 2023 จาก The Asia Foundation และเข้าร่วมการเสวนาระหว่างประเทศเรื่องแม่น้ำและประชาชน ณ มหาวิทยาลัยรัฐพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน กับ วิลเบอร์ สลอคคิช Wilbur Slockish (คลิกคิทัต, ยากามะ), จูเลียน เอฟ. แมทธิวส์ ( JULIAN F. MATTHEWS Board Member and Coordinator, Nimiipuu, Nez Perce) และ เดวิด โซแฮปปี้ David Sohappy, Jr. ยากามะ, ซึ่งเป็นลูกหลานปลาแซลมอน อเมริกันพื้นเมืองดั้งเดิม

การเสวนาครั้งนี้กลุ่มเยาวชนแม่น้ำโขงได้เข้าร่วมผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้เข้าร่วมทางออนไลน์มาจากหลากหลายประเทศซึ่งเป็นทั้งกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่ตามลุ่มน้ำและกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ตามลุ่มน้ำ การเสวนาครั้งนี้เป็นการพูดคุยกันกับอเมริกันดั้งเดิมชาวแม่น้ำโคลัมเบียถึงประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาแม่น้ำโคลัมเบียและแม่น้ำโขง

ก่อนการเริ่มเสวนามีการทำพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อของคนอเมริกันดั้งเดิม พิธีกรรมดังกล่าวไม่สามารถเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ผู้เข้าร่วมทางออนไลน์จึงไม่ทราบว่ามีการดำเนินพิธีกรรมอย่างไร แต่หลังจบพิธีกรรมก็ได้มีการอธิบายว่าการทำพิธีกรรมเป็นการเสริมความเป็นศิริมงคลให้กับผู้เข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้

การเสวนาเริ่มขึ้นด้วยนายนิวัตน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนจากประเทศไทย โดยนายนิวัตน์  ร้อยแก้ว ได้แทนตัวเองว่าเป็นลูกแม่น้ำ ทั้งยังกล่าวว่า “ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกของแม่น้ำไหนเราก็คือลูกแม่น้ำเหมือนกัน” และได้บอกเล่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวริมโขง ที่มีการพึ่งพาน้ำโขงในการดำเนินชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน น้ำโขงเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งรายได้ เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรม  แต่ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโคลัมเบียกำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงโดยสิ่งนี้เรียกว่าเขื่อนซึ่งเป็นสิ่งที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง และเขื่อนได้ทำลายปลาแซลมอนในแม่น้ำโคลัมเบียของชาวโคลัมเบีย และตอนนี้น้ำโขงก็ถูกทำลายโดยเขื่อน ซึ่งสิ่งสำคัญเหล่านี้ที่ธรรมชาติให้มากำลังจะถูกทำลาย

การสร้างเขื่อน เป็นการทำลายระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ดังเช่นแม่น้ำโคลัมเบีย ชาวแม่น้ำโคลัมเบียพึ่งพาแม่น้ำโคลัมเบียในการดำเนินวิถีชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พวกเขาเคารพในสิ่งที่ธรรมชาติสร้างให้และมีความรู้สึกภูมิใจที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำ แต่การสร้างเขื่อนได้สร้างผลกระทบ สร้างความเดือนร้อนให้กับบรรพบุรุษและพวกเขามาอย่างยาวนาน ความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนแต่รัฐบาลไม่มาชดใช้ช่วยเหลือและพวกเขาต้องอพยพเพราะน้ำท่วม ชาวแม่น้ำโคลัมเบียต้องสูญเสียที่อยู่ สูญเสียป่าช้าของพวกเขา แม่น้ำมีความร้อนมากขึ้น เกิดปัญหาการลดลงของพันธุ์ปลา และสูญเสียปลาแซลมอน ปลาแซลมอนเป็นปลาที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานร่วมกับชาวแม่น้ำโคลัมเบีย เป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญ แต่การสร้างเขื่อนได้ทำให้เกิดการปิดกั้นเส้นทางของปลา ตัวแทนจากชาวโคลัมเบียได้เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำของพวกเขา โดยพวกเขาเรียกตัวเองว่าคนของปลาแซลมอน ตัวแทนของชาวโคลัมเบียยังได้กล่าวว่าพวกเขาจะไม่ยอมแพ้หากพระอาทิตย์ยังขึ้น พวกเขาต้องสู้แม้รัฐบาลจะมีการอ้างสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้ชาวโคลัมเบียอยู่ต่อไปและไม่ต่อสู้ แต่พวกเขามองว่าสิ่งเหล่านี้ที่รัฐบาลจะให้เป็นสัญญาลมๆแล้งๆเท่านั้นและพวกเขายังคงต้องสู้ต่อไป แม้ในรุ่นของพวกเขาจะไม่สามารถหยุดเรื่องการสร้างเขื่อนได้แต่สิ่งที่ได้จากชาวพี่น้องโคลัมเบียคือการ “ไม่ยอมแพ้”

จะเห็นได้ว่าการสร้างเขื่อนได้ทำลายระบบนิเวศแหล่งน้ำ ทำลายวิถีชีวิตของชาวลุ่มน้ำ และทำลายอนาคตของลูกหลาน หวังว่าการต่อสู้ของชาวแม่น้ำโขงและแม่น้ำโคลัมเบีย จะไม่สูญเปล่าเพราะคุณภาพน้ำหรือแม่น้ำคือชีวิต

Share/แชร์

Leave a Reply