Skip to main content

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ กลุ่มรักษ์เชียงของ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และเครือข่ายนักวิชาการแม่น้ำโขง Mekong Academic Consortium (MAC) จัดเวทีเสวนาวิชาการ “สามทศวรรษของการพัฒนายุคใหม่ของแม่น้ำโขง บนบทเรียนของประชาชน และชุมชนในการปกป้องสิทธิของแม่น้ำโขง” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ ห้องประชุมคำมอกหลวง อาคาร M Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ทั้งนี้ เวทีดังกล่าวเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ผู้แทนจากหลายภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นประชาชน นักวิชาการ นักนโยบาย และสื่อมวลชน ได้ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาจากการถอดบทเรียนการปกป้องแม่น้ำโขง รวมถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวในช่วงระยะเวลากว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา ตลอดจนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่แนวทางการส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรธรรมชาติ การฟื้นฟูอาชีพ วิถีทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย คุณนิวัฒน์ ร้อยแก้ว (ครูตี๋) ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ผู้อำนวยการสถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ คุณพุทธิกุล ทองเนื้อสุก ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการลุ่มน้ำ 2 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รศ.ดร.ชัยยุทธ สุขศรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย Thailand Environment Institute (TEI) คุณรวินทร์นิภา การินทร์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองความมั่นคงกิจการชายแดนและประเทศรอบบ้าน (สมช.) Ms.Charm Tong มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ Shan Human Rights Foundation (SHRF) และคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สื่อมวลชนอิสระ อดีตรองผู้อำนวยการด้านข่าวและรายการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี

การเสวนาครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้ “โครงการเวทีสาธารณะแม่น้ำโขงและมินิเทศกาลหนังสารคดี” ซึ่งทางสถาบันองค์กรความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 26 ตุลาคม 2567 เพื่อสร้างความร่วมมือและประสานพลังจากทุกภาคส่วนของสังคมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการพัฒนาชุมชนและบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขงและแม่น้ำสาขาอย่างมีส่วนร่วม เป็นธรรมและยั่งยืนต่อไป

โดยโครงการดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรม ดังนี้

1) กิจกรรมการเสวนาเปิดประเด็น “สามทศวรรษของการพัฒนายุคใหม่ของแม่น้ำโขง บนบทเรียนของประชาชน และชุมชนในการปกป้องสิทธิของแม่น้ำโขง” วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

2) กิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชนในลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย 4 ชุมชน ในจังหวัดเชียงราย 2.1) ชุมชนบ้านห้วยลึก ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น 2.2) ชุมชนบ้านปากอิงใต้ ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ 2.3) ชุมชนบ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน และ 2.4) ชุมชนบ้านป่าข่า ตำบลป่าตาล อำเภอขุนตาล วันที่ 25 ตุลาคม 2567

3) กิจกรรมเวทีสาธารณะ “บทเรียนและข้อเสนอนโยบายเพื่อการพัฒนาชุมชนลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน” วันที่ 26 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุมเชียงของดาวเจ็ดแฉก อาคารศูนย์บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ที่ว่าการอำเภอเชียงของ

4) กิจกรรมมินิเทศกาลหนังสารคดี วันที่ 24 – 25 ตุลาคม 2567 ณ โฮงเฮียนแม่น้ำของ และ

5) กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตภาพยนตร์สารคดีสั้น Mekong Film Workshop#2 สะท้อนมุมมองและประสบการณ์ที่หลากหลายเกี่ยวกับแม่น้ำโขง จาก เยาวชนและนักศึกษาในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง เครือข่ายนักวิชาการ MAC และโครงการเยาวชนแม่น้ำโขง (MYP) ที่เข้าร่วมกิจกรรม วันที่ 23 – 26 ตุลาคม 2567

Share/แชร์

Leave a Reply