Skip to main content
ข่าว

แม่น้ำของ: ผลกระทบ การเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่ยังคงอยู่

By ตุลาคม 23, 2023No Comments

โครงการเยาวชนแม่น้ำโขง : เรียบเรียงจากเวทีเสวนาใน “กิจกรรมผู้เฒ่าเล่าขานลูกหลานวาดฝัน”

“แม่น้ำของหรือแม่น้ำโขงมีความยิ่งใหญ่ ไหลผ่านผู้คนนับร้อยกลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีภาษา มีวัฒนธรรมและขนมธรรมเนียมที่แตกต่างหลากหลาย เรียกว่าเป็นอารยธรรมลุ่มน้ำโขงที่สำคัญของเอเชียเลยก็ว่าได้”

แม่น้ำโขงมีจุดกำเนิดอยู่ทางตอนบนของเทือกเขาหิมาลัยซึ่งเป็นที่ที่สูงสุดของโลกเกิดจากการละลายของหิมะจากทิเบตไหลลงสู่ประเทศจีน ในทิเบตแม่น้ำโขงมีชื่อว่า ต้าจู เมื่อไหลมาที่จีนก็มีชื่อเรียกว่า หลานซางเจียง ซึ่งแปลว่า แม่น้ำที่เชี่ยวกราก ขึ้นไปทางตอนเหนือใกล้กับต้นน้ำ จะมีความสูงมาก พอไหลลงมาผ่านล้านช้าง สิบสองปันนา เชียงรุ่ง เป็นเมืองของพี่น้องไตลื้อ เมืองเก่าแก่ของบรรพบุรุษ เรียกว่า แม่น้ำล้านช้าง พอไหลเข้ามาสู่ประเทศลาวเรียกว่าแม่น้ำของ เชียงของเองก็ได้ชื่อมาจากตรงนี้ เพราะอยู่ติดกับแม่น้ำของ ทางภาคอีสาน จากหนองคาย ไปถึงอุบลราชธานี ผ่านอีก 7 จังหวัดเรียกว่าแม่น้ำของเช่นเดียวกัน เมื่อน้ำของไหลเป็นพรมแดนไทย-ลาว แล้วเข้าสู่ลาว ออกไปยังเขมรหรือกัมพูชา มีชื่อเรียกว่า ตนเลธม แปลว่า แม่น้ำใหญ่ ไหลลงไปผ่านประเทศเวียดนาม แม่น้ำของแยกออกมาหลายสาย มีชื่อว่า กิ๋วล่องหรือเกาล่อง แปลว่ามังกร 9 หาง  และออกสู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม บริเวณตรงนั้นเรียกว่าสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงหรือ Mekong Delta พื้นที่ส่วนนั้นมีความสำคัญมาก เพราะเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวได้มากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

นี่คือภาพความยิ่งใหญ่และสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำโขงที่ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ หนึ่งในคนที่ผูกพันกับแม่น้ำของมาตั้งแต่กำเนิด ครูตี๋เล่าว่า แม่น้ำของคือเป็นแม่น้ำที่ให้อาหารกับผู้คน มีความมั่งคั่งทางอาหารอย่างมาก มีปลากว่า 1,200 ชนิดในลุ่มน้ำโขงแห่งนี้ ไม่เพียงเท่านั้นยังมี นก พืช และทรัพยากรอื่นๆ นี่คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าแม่น้ำโขงคือแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่ สำคัญและสัมพันธ์กับชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง

จากอดีตมาถึงปัจจุบันแม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงไปมากมาย มีสาเหตุมาจากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน ระเบิดเกาะแก่ง การใช้สารเคมีในการเกษตร การเดินเรือพาณิชย์ และการทิ้งขยะลงในแม่น้ำ แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตผู้คนและระบบนิเวศน์ ก็คือ การสร้างเขื่อน เมื่อปี 2538 มีเขื่อนตัวแรกกำเนิดขึ้นในน้ำโขง ชื่อว่า ‘เขื่อนมานวาน’ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แม่น้ำโขงเริ่มขึ้นลงไม่ปกติ ไม่เป็นไปตามฤดูกาล  โดยปกติในเดือนเมษายนจะแห้ง พฤษภาคมฝนมาน้ำก็จะเริ่มยกระดับขึ้น ไปถึงสิงหาคมน้ำสูงขึ้นอีก พอมาพฤศจิกายนก็จะลดลง วนกันไปแบบนี้ เป็นวัฏจักร

ชัยวัฒน์ ดวงธิดา หรือ พัน ชาวประมงบ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ได้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับครูตี๋ในกิจกรรม ผู้เฒ่าเล่าขานลูกหลานวาดฝัน ถึงประเด็นนี้ เขาเล่าว่าตนเองเติบโตมากับแม่น้ำโขง หาปลามาตั้งแต่วัยเด็ก ในช่วงปี 2536-2537 ในน้ำโขงปลามีมากมาย กระทั่งปี 2540 ซึ่งตรงกับปีที่เปิดเขื่อนมานวานในจีน นั่นเป็นสัญญาณและจุดเริ่มต้นของวิกฤตแม่น้ำโขง

“ปลาไม่ค่อยมี ประกอบกับพี่น้องทางฝั่งลาวก็หาปลากันเยอะ เครื่องไม้เครื่องมือแต่ก่อนใช้เบ็ดก็ยังพอหาได้ แต่เดี๋ยวนี้ต้องใช้จ๋ำในการหา เพราะปลาเหลือน้อยลงไปทุกที”

 การหาปลาเพื่อนำไปขายเลี้ยงชีพ มันไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเท่าไหร่ ไหนจะต้องซื้อตาข่าย ตาข่ายชุดหนึ่งใช้เงินถึง 4-5 พันบาท อีกทั้งยังเสี่ยงกับน้ำขึ้นน้ำลงที่ไม่คงที่ ตาข่ายที่นำไปดักไว้ก็จม ไหลไปตามน้ำ มีความเสี่ยงสูง

“หน้าแล้งก็ปล่อยน้ำให้ คือสิ่งที่ฟังดูดีที่สุดสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่กับแม่น้ำโขง แต่คนหาอยู่หากินกับแม่น้ำโขงจะเข้าใจเลยว่าวิธีคิดอย่างนี้มันผิดธรรมชาติ”

ครูตี๋กล่าวถึงการทำงานของเขื่อนกักเก็บน้ำ ที่ส่งผลกระทบกับผู้คนและธรรมชาติ

เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำต้องยกระดับขึ้น การยกระดับขึ้นของแม่น้ำโขงมันสำคัญคือ น้ำจะท่วมเข้าไปในแม่น้ำสาขาทั้งหมด การที่น้ำโขงย้อนกลับเข้าไปในแม่น้ำสาขาจะทำให้ปลาจำนวน 90 กว่าชนิดเข้าไปวางไข่ ในพื้นที่ชุ่มน้ำหรือพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง หรือเรียกว่าแก้มลิง พอปลาเจริญเติบโต มันจะว่ายกลับมาที่แม่น้ำโขงอีกครั้ง

แต่สิ่งที่กำลังเผชิญในปัจจุบันนี้คือ แม่น้ำโขงน้ำมันไม่ยกระดับ เขื่อนเก็บกักน้ำไว้ การปล่อยน้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาล น้ำไม่ไหลเข้าแม่น้ำสาขา ปลามากมายหลายชนิดก็ไม่เข้าไปวางไข่ ส่งผลให้ปลาลดจำนวนลงเรื่อย ๆ บางชนิดถึงขั้นสูญพันธุ์ นั่นเป็นสาเหตุที่บ่งชี้ได้ว่าความมั่งคั่งความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงกำลังจะหายไป

ทว่าการแห้งของแม่น้ำโขงในหน้าแล้งก็มีประโยชน์เช่นกัน เพราะมันแห้งไปตามธรรมชาติของมัน แม่น้ำโขงมีระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็น คก หลง หนอง หาด ผา เกาะ ดอน ซึ่งเป็นระบบนิเวศย่อย หน้าแล้งเมื่อน้ำแห้ง เกาะดอนหรือหาดก็โผล่ขึ้นมา เป็นพื้นที่ให้นกได้วางไข่ เมื่อเขื่อนปล่อยน้ำมาแล้วท่วมเกาะ ดอน หาด ซึ่งเป็นที่อยู่ของนกที่อพยพจากตอนบนลงมาวางไข่ตามเกาะ แก่ง หาด ดอน ส่งผลให้นกวางไข่ไม่ได้และบางครั้งก็ท่วมไข่ของนก หลายปีผ่านมานกก็เริ่มลดลงไป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นเรื่องใหญ่ของสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกัน

และสิ่งหนึ่งที่ปรากฏคือ การเกิดสาหร่ายหรือไก ไกจะเกิดกับหิน ซึ่งอยู่ในที่ที่น้ำใส มีแสงแดดส่องถึง ไกอาหารของปลาที่กินพืชด้วย เช่น ปลาบึก ในบางช่วงเมื่อไกมันเกิดขึ้น เขื่อนก็ปล่อยน้ำมา ถ้าน้ำยกระดับสูงขึ้น แสงแดดก็ส่องไม่ถึง ไกไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ มันก็หลุดและตาย อาหารของปลาและอาหารของคนก็หายไปพร้อมกับสูญเสียรายได้ แต่เป็นความโชคดีในต้นปี 2565 นี้ชาวบ้านก็มีรายได้จากไกเยอะมาก เพราะแม่น้ำโขงไม่ขึ้นลงมาก เพราะไม่ได้มีการเดินเรือพาณิชย์เพราะเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 เขื่อนไม่ค่อยปล่อยน้ำเท่าไหร่ ทำให้ไกยังเกิดได้ตลอด

ปัญหาที่เกิดกับแม่น้ำโขงยังมีเรื่องการทิ้งขยะลงแม่น้ำซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เห็นได้ชัดเลยว่าแม่น้ำโขงมีขยะเยอะมาก โดยเฉพาะไมโครพลาสติกที่อาจจะเข้าไปอยู่ในตัวปลา เป็นปัญหาใหญ่ที่ชาวบ้านบางคนยังไม่เข้าใจ ซ้ำเรือสินค้าขนาดใหญ่ก็ทิ้งขยะลงแม่น้ำด้วย นอกจากนี้การบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำในแม่น้ำสาขาเอาดินไปถม สร้างอาคาร ส่งผลให้พื้นที่เพาะพันธุ์ปลาหายไป นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและต้องการให้เยาวชนและชาวบ้านได้รับรู้ว่าแม่น้ำโขงมีปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทางวิชาการเองบอกว่า ถ้ายังมีเขื่อนสร้างขึ้นอีก อีกไม่ถึง 20 ปี ตะกอนจะหายไปจากแม่น้ำโขงราว 97 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่าความอุสมบูรณ์ มั่งคั่งทางทรัพยากรที่เคยมีก็จะหายไปด้วย

ครูตี๋กล่าวว่าทั้งหมดทั้งมวลเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรับรู้และช่วยกันดูแลรักษา เยาวชนคือพลังที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสียงออกไปให้ผู้คนได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำโขง มันต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร นี่เป็นสิ่งที่กลุ่มรักษ์เชียงของพยายามผลักดัน เชื่อมร้อยเยาวชนให้เขามองเห็นเรื่องราวของโลก เห็นความสำคัญของทรัพยากรในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของโลก เป็นสิ่งที่คาดหวัง และคิดว่าต้องทำ

“คิดดูว่าถ้าวันหนึ่งแม่น้ำที่เคยมีมันหายไป น้ำที่เคยดื่มได้ก็ดื่มไม่ได้ อากาศที่เคยหายใจก็เป็นพิษ อนาคตของเด็กเยาวชนก็อยู่กับเรื่องพวกนี้ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมมันคือปัจจัยสี่ในชีวิตของเรา เยาวชนถือเป็นกำลังสำคัญในเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไป”

Share/แชร์

Leave a Reply