ในช่วงบ่ายวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องด้วยวาระเชียงรายเมืองศิลปะและงานฮอมปอยศรัทธาเพื่อแม่น้ำโขง ณ ห้องสมุดโฮงเฮียนแม่น้ำของ เปิดแสดงผ้าทอชีวิต : นิเวศศิลป์ผ้าทอไทลื้อหาดบ้ายหาดทรายทอง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 14 คน และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 5 คนโฮงเฮียนแม่น้ำของและกลุ่มศิลปินสุขาวดีผ้าทอ ได้นำผ้าทอชีวิตย้อมสีธรรมชาติที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรมไตลื้อบ้านหาดบ้ายหาดทรายทองได้ออกมาจัดแสดง
ก่อนเข้าสู่การเปิดตัวผ้าทอไทลื้อและการขับลื้อ มีการฉายวีดีโอประกอบลายผ้า “เพลงผ้า : ทอชีวิต” ต่อมาแม่สุขาวดี ติยะธะ ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการรวมกันถักทอผืนผ้าที่ย้อมด้ายสีธรรมชาติเป็นเรื่องราวของคนไตลื้อในชุมชน ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ แม่น้ำ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และการสิ้นสุดของมนุษย์
“ ลายเป็นวิถีชีวิต มีการใช้ผ้าทำและทำให้มีเรื่องราวเกิดจากการทำจากชีวิตประจำวันจนนำไปสู่การรวมตัวกันเพื่อสร้างรายได้จนเกิดเป็นผ้าผืนนี้ซึ่งผ้าตัวนี้เป็นผ้าที่สร้างเรื่องราวของชาวบ้าน ให้ผืนผ้ามีความหมายซึ่งเป็นเรื่องราวของชาวบ้านที่มีความเชื่อมโยงวิถีชีวิตเกี่ยวกับ อาหาร ประเพณี ในผ้าผืนนี้จึงมีความหมาย… อย่างที่เป็นการบอกเล่าวิถีชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน”
“ สำหรับแรงบันดาลใจ ลายวิถีชีวิตของชาวบ้านหาดบ้ายหาดทรายทอง ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ การทอผ้าเป็นสิ่งที่ทำเป็นกิจวัตรประจำวัน แม่ก็เลยศึกษาเกี่ยวกับลายผ้านำเอาผ้าและลวดลายมาทำให้ดีขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ต่อไปเรื่อยๆ” แม่สุขาวดีเล่าต่อไปถึงลายผ้าโดยจะเล่าตั้งแต่ฐานข้างล่างขึ้นไปข้างบน
“ลาย ‘สร้อยสา’ เป็นรูปนกหรือหงษ์เป็นสัตว์มงคล จากนั้นเป็นลาย ‘น้ำไหล’ หรือในภาษาไทลื้อเรียกว่า ‘เกาะใหญ่หางปลา’ ต่อมาเป็นลายสายน้ำ เป็นวิถีชีวิตในการหาหอย หาปลา หาอาหารจนถึงปัจจุบัน เป็นการนำวิถีชีวิตมาใส่ในการทอผ้าเพื่อให้ชาวบ้านได้รู้ว่า เราไม่ได้ทิ้งวิถีชีวิตที่มีอยู่ ปลาในนี้เป็นปลานา ปลาขาว เป็นปลาน้ำโขงทั้งหมด ลาย ‘พญานาค’ พญานาคเป็นสัตว์มงคลจะอยู่ในน้ำลึก น้ำเย็น และในน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ ลาย ‘ตาไก่’ สมัยก่อนในระหว่างที่ชาวบ้านกำลังทอผ้ามีไก่มากวนไก่บินไปบินมาและบินมาจิกผ้าจึงนำลายมาทอในผืนผ้า ต่อไปเป็นลาย ‘สายน้ำ’ ที่อุดมไปด้วย ‘ต้นข้าว’ มี ‘ปลา’ มี ‘ปู’ มาจากอาชีพในชุมชนการทำไร่ ทำนา จากนั้นเป็นสิ่งที่คนในชุมชนนับถือ คือ ลาย ‘ช้าง’ กับ ‘ม้า’ ซึ่งในสมัยก่อนใช้ช้างในการขนของ และเป็นยานพาหนะของกษัตริย์ ลาย ‘เฮลิคอปเตอร์’ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นเป็นลาย ‘น้ำของและเรือขนส่งสินค้า’ ซึ่งเป็นเรือที่มาจากประเทศจีน ในแม่น้ำมี ‘เขื่อน’ มี ‘ตอไม้แห้ง’ (ตอไม้เขิน) ลอยมาในลำน้ำ รวมไปถึงต้นไม้ยืนต้นตาย (ต้นไม้ซางลาง) และปลาเริ่มหายไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดยเกิดจากการสร้างเขื่อน ผลที่ได้รับจากการสร้างเขื่อน น้ำโขงขึ้นลงผิดปกติ ไม่ได้ขึ้นลงตามฤดูกาลส่งผลทำให้ปลาลดน้อยลง การหาปลาก็ยากขึ้นเพราะการวางไข่ของปลาน้อยลง เกาะแก่งเริ่มหายไป จึงทำให้มีความลำบากในการทำมาหากิน และลายสุดท้าย คือ ลาย “ยอดปราสาท” เป็นปราสาทที่เทวดาอาศัยอยู่ เป็นการบอกถึงใครทำความดีเมื่อตายไปก็จะได้ไปอยู่ที่ปราสาทกับเทวดา แต่ถ้าใครทำชั่วก็จะกลายเป็นผีเสื้อ เร่ร่อนพเนจรไปทั่ว ”
หลังจากที่แม่สุขาวดีพูดถึงแรงบันดาลใจและอธิบายถึงความหมายของผ้าทอ ชาวบ้านมีการเล่าเรื่องของผ้าผ่านการขับลื้อ ซึ่งการขับลื้อเป็นการขับร้องบทเพลงที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของคนไทลื้อ โดยจะใช้ภาษาลื้อในการขับร้อง และในระหว่างการขับลื้อจะพูดคำว่า “ เสย เสย เสย ” ซึ่งเป็นคำที่ให้กำลังใจแก่คนขับลื้อ การเล่าเรื่องผ่านลายผ้า และการถักทอผ้าโดยชาวบ้านหาดบ้ายหาดทรายทองจำนวนคน 10 กว่าคน และใช้เวลา 91วัน (3 เดือน) เพื่อให้คนในสังคมได้รับชมเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านผ้าทอและการขับลื้อ และนิเวศศิลป์ผ้าทอไทลื้อหาดบ้ายหาดทรายทองได้ผ่านการคัดเลือกให้จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกนในอีก 2 ปีข้างหน้า
กิจกรรมนิเวศศิลป์ ผ้าทอชีวิต ผืนนี้ได้รับการสนับสนุนทั้งการอบรมเชิงปฏิบัติการการออกแบบลายผ้าทอ การทอและวัสดุอุปกรณ์จากโครงการ Mekong Culture WELL ภายใต้การสนับสนุนของ มูลนิธิลูซ, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และสถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ