วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565
ณ สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ
กลุ่มรักษ์เชียงของ สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ ได้ดำเนินการจัด Mekong Dam Monitor ภายใต้โครงการสร้างศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเยาวชนและชุมชนเพื่อปกป้องและติดตามสุขภาวะของแม่น้ำโขงในจังหวัดเชียงราย ประเทศไทย (Program of Youth and Community Empowerment and Capacity Building for Monitoring, Protection, and Health of the Mekong in Chiang Rai Province, Thailand) ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องมาจาก กิจกรรมผู้เฒ่าเล่าขานลูกหลานวาดฝัน โดยได้เปิดรับสมัครนักเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาจำนวน 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านแซววิทยาคม โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก โรงเรียนเชียงของวิทยาคม และโรงเรียนบ้านห้วยลึก
ทว่าด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด ส่งผลให้ทั้ง 4 โรงเรียนไม่สามารถจัดกิจกรรมพร้อมกันได้ ดังนั้นกิจกรรม Mekong Dam Monitor ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่จัดขึ้น ณ สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ จึงมีนักเรียนที่เข้าร่วมจากสองโรงเรียนก็คือ โรงเรียนเชียงของวิทยาคม จำนวน 10 คน และโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก จำนวน 8 คน พร้อมด้วยสมาชิกกลุ่มรักษ์เชียงของซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรม อาสาสมัครและผู้สังเกตการณ์อื่นๆ ร่วมด้วย
โดยในกิจกรรม Mekong Dam Monitor ได้รับความร่วมมือจาก Brian Eyler Director, Stimson Center Southeast Asia Program ที่พานักเรียนไปเรียนรู้เว็บไซต์ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงและร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราวของแม่น้ำโขง โดยเว็บไซต์ดังกล่าวก็จะมีข้อมูลสถานการณ์น้ำ การแจ้งเตือน มาตรวัดระดับน้ำ ซึ่งเว็บไซต์มีประโยชน์อย่างมากสำหรับคนที่อยู่ในลุ่มน้ำโขง มีข้อมูลที่สามารถนำมาอ้างอิง ศึกษาหาคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้
ต่อเนื่องกันมาหลังจากได้เรียนรู้เว็บไซต์ ก็มีความต้องการให้เยาวชนได้มองเห็นภาพผลกระทบ การเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่ยังคงอยู่ของแม่น้ำโขงมากขึ้น จึงจัดให้มีเวทีเสวนาอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมา เชิญผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ที่เกิดและเติบโตมากับแม่น้ำโขงมาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวในอดีตให้กับลูกหลานได้ฟัง ซึ่งเวทีนี้มีครูตี๋ (นิวัฒน์ ร้อยแก้ว) ทำหน้าที่เป็นกระบวนกร ชวนยายแสงนวล บุญยัง อายุ 72 ปี ชาวบ้านหาดไคร้ เล่าให้ลูกหลานฟังถึงวิถีชีวิตในสมัยที่ยังเป็นละอ่อน (เป็นเด็ก) อยู่กับแม่น้ำโขงอย่างไร ทำมาหากินอย่างไร และยังมี ลุงพุ่ม บุญหนัก ผู้ที่ทำมาหากินหลากหลายอาชีพและอยู่กับแม่น้ำโขงมาตลอด มาเล่าถึงวิถีของคนจับปลาบึก ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง ความผูกพันของผู้คนกับสายน้ำที่พึ่งพาอาศัยกันมาแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน สิ่งเหล่านั้นได้เปลี่ยนแปลงไป
หลังจากนั้นครูมะนาว จากแกนนำก่อการครูล้านนา ได้พานักเรียนทบทวนความรู้สึกจากการฟังเรื่องเล่าจากผู้เฒ่า ก่อนนำเข้าสู่เนื้อหาการออกแบบโครงงานการศึกษาเรียนรู้แม่น้ำโขง-แม่น้ำสาขา โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า 5P ที่ทำให้สามารถคิดประเด็นปัญหาหรือหัวข้อที่สนใจนำไปสู่การสร้างสรรค์โครงงานที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งตนเองและสาธารณะได้ หลังจากได้ประเด็นที่สนใจแล้ว แต่ละกลุ่มก็ได้มีการวางแผนการทำงาน ลงรายละเอียดงานรวมไปถึงงบประมาณที่จะต้องใช้ ซึ่งเป็นการวางแผนคร่าวๆ และอาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
และกิจกรรมสุดท้ายในตอนเช้าของวันที่ 2 เป็นเรื่องของสิทธิเด็กเยาวชนด้านนิเวศ พาทุกคนออกเดินทางสัมผัสกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในยามเช้า โดยมี จักร กินีสี หรือ ตาจักษ์ ผู้มีอาชีพเป็นไกด์ดูนก และยังมีความรู้เรื่องพฤษศาสตร์ ต้นไม้ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ได้ชวนให้นักเรียนได้เชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติ ฟังเสียงธรรมชาติ ฝึกสังเกตสิ่งรอบตัว ใช้ความรู้สึกในระหว่างที่เดินไป โดยมีจุดหมายปลายทางคือหาดทรายน้ำโขง ที่กำลังจะหายไปพร้อมกับการพัฒนาที่รุกเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งนักเรียนก็ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบอีกมากมายที่ตามมา
หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมได้ให้ทุกคนสะท้อนความรู้สึกของตนเอง หลายคนสะท้อนว่า ทุกๆ ครั้งที่ได้ความรู้ก็เหมือนค่อยๆ เติบโต บางคนไม่เคยได้สัมผัสใกล้ชิดหรือเรียนรู้สิ่งที่อยู่ในบ้านเกิดตัวเองเท่าไหร่ พอมาร่วมกิจกรรมก็ได้รู้ว่าในบ้านของตนเองมันมีอะไรมากขึ้น และเห็นว่าหลายอย่างมันกำลังจะเปลี่ยนไปแล้ว