เยาวชนนักเรียนโรงเรียนแจมป๋อง เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงผลกระทบ
และ
สิ่งที่คงอยู่ของแม่น้ำโขง แล้วร่วมวาดฝันถึงอนาคต
วันที่ 20 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. กลุ่มรักษ์เชียงของ สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ ร่วมกับ โรงเรียนเทศบาลหล่ายงาว (แจมป๋อง) จัดเวทีกิจกรรมผู้เฒ่าเล่าขานลูกหลานวาดฝัน ภายใต้โครงการเยาวชนแม่น้ำของ ซึ่งเป็นโรงเรียนในลำดับที่ 10 ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีนักเรียนชั้นประถมปลาย ป.4-ป.6 จำนวน 24 คน เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัว ชี้แจงโครงการ เล่นเกมจนสนุกสนานกันแล้ว ฟังเรื่องราวจากผู้เฒ่าผู้รู้จากในชุมชนบ้านแจมป๋อง โดยนายสมศักดิ์ ชัยมงคล และผู้รู้แห่งลุ่มน้ำโขง ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ผู้ได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมโลก (Goldman Prize) คนเดียวของเอเชีย ในปี 2565 นี้
ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว กล่าวว่า -
“วันนี้จะเป็นประโยชน์มากกับพวกเรา เพราะพวกเราอาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำโขง วันนี้เราจะได้เรียนรู้ว่าที่น้ำของหรือโขง สกปรกอย่างไร เราจะได้ตรวจวัดแม่น้ำโขงด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ก่อนอื่นครูจะเล่าถึงตำนานแม่น้ำที่เล่าว่า มีนาคสองตัวอาศัยอยู่ในทะเลสาบตอนบน นาคตัวหนึ่งไปได้ช้างมาจึงแบ่งให้เพื่อนด้วย นาคอีกตัวได้เม่นมาก็แบ่งให้เพื่อน แต่ได้นิดเดียว เลยคิดว่าทำไมเพื่อนจึงแบ่งให้แบบนี้ ขนก็ใหญ่ แต่แบ่งเนื้อให้นิดเดียว จนเกิดการรบกัน เดือดร้อนถึงพญาแถน จึงให้ทั้งสองขุดควักดินไปถึงทะเล ใครชนะจะได้รางวัลเป็นปลาบึกและพื้นท้องน้ำจะเป็นทองคำ นาคตัวที่ขุดควักแม่น้ำตรงดิ่งคือแม่น้ำคงหรือแม่น้ำสาละวิน ส่วนแม่น้ำโขงเมื่อเจอหินผาก็หักหลบเลี้ยวจนไปถึงทะเลก่อน แม่น้ำโขงจึงได้รางวัลเป็นปลาบึกและได้กลายเป็นแม่น้ำทองคำ”
ลุงสมศักดิ์ ชัยมงคล อายุ 72 ปี ผู้รู้บ้านแจมป๋อง -
“ผมเกิดแจมป๋อง แล้วไปโตที่หล่ายงาว แล้วไปเรียนที่เชียงรายจนจบ มศ.3 แต่ไม่ได้เรียนต่อ มศ.4 กลับมาอยู่มีอาชีพหาปลา ทำเกษตร ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงแล้วจึงมาเลี้ยงปลาในกระชังและข้างบนทำเป็นร้านอาหาร แต่ยังหาปลาจนเลี้ยงลูกสามคนได้เรียนจนเป็นตำรวจและพยาบาล ปัจจุบัน ราคาปลาสูงแต่ปลาหาได้น้อย บางครั้งไปหาปลา ไปหากุ้ง วันหนึ่งได้มาไม่ถึงขีด ปัจจุบันมีคนหาปลาน้อยลง และการหาปลาก็ไม่เป็นฤดูกาลเช่นก่อน น้ำมันขึ้นลงไม่ปกติ…”
ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว กล่าวอีกว่า -
“การเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงเริ่มต้นเมื่อปี 2539 – 2540 ที่เริ่มมีเขื่อนแห่งแรกคือเขื่อนมันวานในจีน ชาวบ้านเห็นภาวะน้ำแห้งฉับพลันเมื่อมีเขื่อนแรก พอปี 2546 มีเขื่อนต้าเชาชาน ภาวะน้ำขึ้นลงไม่ปกติมีมากขึ้น ในปี 2551 เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันจากการปล่อยของเขื่อนจินหงหรือเชียงรุ่ง ที่ฝนตกหนักหน้าเขื่อนแล้วปล่อยมาทันที ปี 2553 น้ำแห้งลงมากหลังจากการสร้างเขื่อนเสี่ยววาน ที่มีความสูงของสันเขื่อนกว่า 290 เมตร จนเรือติดแก่งอยู่ก่อนถึงหลวงพระบาง กระทั่งปัจจุบันมีเขื่อนตอนบนกว่า 11 เขื่อน การเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงจากเขื่อนคือน้ำขึ้นลงไม่ปกติในรายวัน รายสัปดาห์ จนฝั่งแม่น้ำพังทลายลง รัฐบาลต้องใช้เงินมหาศาลสร้างพนังกั้นทั่วริมฝั่งโขง อีกอย่างผลกระทบคือน้ำใหลากท่วมไปยังแม่น้ำสาขาหรือหนองบึง ปลาไม่สามารถวางไข่ได้ จนปลาหายไป หน้าแล้งน้ำท่วมจนนกไม่สามารถวางไข่บนหาดของเกาะดอนกลางโขงได้ ปลาหลายชนิดหายไป”
เมื่อผู้เฒ่าเล่าขานเรื่องราวต่างๆ ของแม่น้ำโขงแล้ว นักเรียนได้ฝึกเรียนรู้การวัดน้ำอย่างง่าย โดยแบ่งนักเรียนเป็น 3 กลุ่ม และไปเก็บน้ำตัวอย่างจากน้ำดื่มในโรงอาหารของโรงเรียน, น้ำจากบ่อสระในโรงเรียน และลงไปเก็บน้ำโขงที่ท่าเรือด่านผ่อนปรนแจมป๋อง ต.หล่ายงาว ซึ่งเดินไปไม่ไกลจากโรงเรียน เมื่อวัดแล้วนักเรียนจึงมานำเสนอผลแล้วกระบวนกรชวนวิเคราะห์สังเคราะห์ โดยการชวนคุย ผลที่ออกมาจะเห็นว่าค่าตะกอนในน้ำดื่มโรงเรียนมีค่าสูงกว่าค่าตะกอนจากน้ำในสระน้ำและน้ำจากแม่น้ำโขง ในกรณีของแม่น้ำโขงสีที่นักเรียนสังเกตเห็นจะมีสีน้ำตาลหรือขุ่นกว่าน้ำในสระหรือน้ำดื่ม แต่ค่าตะกอนของแม่น้ำโขงมีค่าไม่สูง ทำให้มาชวนคิดกันว่า แม่น้ำโขงยังเห็นเป็นสีขุ่นกว่าแต่ค่าตะกอนหรือตะกอนน้ำหายไปไหน นักเรียนและกระบวนกรพี่เลี้ยงได้สะท้อนจากที่ผู้เฒ่าเล่าไว้ว่า นอกจากเขื่อนกักเก็บน้ำไว้แล้วยังเก็บกักตะกอนน้ำไว้ด้วย จนแม่น้ำตอนล่างใสเป็นสีฟ้าไร้ตะกอนในฤดูแล้ง
ต่อมาเยาวชนร่วมกันเขียนแผนที่ชุมชนบ้านแจมป๋อง ใส่ว่าของดีของบ้านแจมป๋องมีอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน แล้วเข้าสู่กิจกรรมวาดฝันอย่างอิสระเพื่อประมวลการเรียนรู้เป็นภาพอย่างอิสระของแต่ละคน เด็กๆ มองหามุมวาดฝันกันแล้วนำมาแสดงรูปร่วมกันอย่างสนุกสนาน