Skip to main content

วันที่ 9-10 มีนาคม 2565

กิจกรรม Mekong Dam Monitor ครั้งที่ 2 จัดขึ้นในวันที่ 9-10 มีนาคม 2565 ณ ร้าน Healing Café บ้านปงของ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในกิจกรรมได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเว็บไซต์ monitor.mekongwater.org เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ โดยเว็บไซต์มีประโยชน์ในการใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำหรับนักเรียนที่จะทำโครงงานการศึกษาเรื่องแม่น้ำโขง-แม่น้ำสาขา มีกิจกรรมการออกแบบโครงงานการเรียนรู้แม่น้ำโขง-แม่น้ำสาขา โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า 5P ที่ทำให้สามารถคิดประเด็นปัญหาหรือหัวข้อที่สนใจนำไปสู่การสร้างสรรค์โครงงานที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งตนเองและสาธารณะ 

กิจกรรมศึกษาและสำรวจธรรมชาติในชุมชน ฝึกสังเกตลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมในพื้นที่เพื่อนำมาทำแผนที่ชุมชน และในกิจกรรมได้เชิญ ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว จากโฮงเฮียนน้ำของ และพ่อเจริญ ธรรมรัตน์ ผู้รู้แห่งบ้านปงของ มานั่งเล่าย้อนเรื่องราวในอดีตถึงวิถีชีวิตการหาอยู่หากินและความผูกพันต่อแม่น้ำของเพื่อสะท้อนให้นักเรียนที่เข้าร่วมได้เห็นถึงถึงผลกระทบ การเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่ยังคงอยู่กับแม่น้ำสายใหญ่สายนี้ 

โดยครูตี๋ได้เล่าถึงภาพใหญ่ของแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำของว่าเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ และยาวมาก ไหลผ่านหลายประเทศ มีความอุดมสมบูรณ์ พันธุ์ปลาก็มากมาย ด้วยลักษณะทางกายภาพที่ใหญ่และยังมีผู้คนมากมายได้พึ่งพาอาศัย ที่มีความแตกต่างทั้งทางด้านภาษา วัฒนธรรม เกิดเป็นอารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ผู้คนแต่ละประเทศต่างก็พึ่งพาแม่น้ำโขงกันทั้งนั้น

ส่วนพ่อเจริญ ธรรมรัตน์ เล่าว่าตนเองเป็นคนบ้านแซว สมัยเป็นละอ่อน (เป็นเด็ก) ก็มักจะไปเล่นน้ำโขง แต่สมัยนั้นแม่น้ำไม่ได้กว้างใหญ่เหมือนตอนนี้ ใช้เรือแจวข้ามไปข้ามมาได้ระหว่างฝั่งไทย-ลาวได้ พออายุได้ 20 ปี ก็เริ่มมาจีบสาวที่บ้านปงของ หลังจากนั้นก็แต่งงานและอยู่ที่บ้านปงของมาจนถึงปัจจุบัน บริเวณบ้านปงของสมัยนั้นจะเหมือนเมือง เพราะมีตลาดใหญ่ เรือที่ล่องมาจากเชียงแสนจะไปเชียงของก็จะมาจอดที่นี่ บรรยากาศคึกคักมาก พ่อเจริญเองก็เป็นคนหาปลาคนหนึ่ง ปลาที่ได้มา ทั้งขายทั้งกิน หาปลาจนส่งลูกเรียนจบและได้ทำงาน แต่ก่อนนั้นปลาที่ซื้อขายกัน ราคากิโลละ 6 บาท ตอนนี้ 120 บาทแล้ว สมัยก่อนปลามีมากค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ หว่านแหลงไปไม่นานก็ได้กินแล้ว ปลาที่เคยได้บ่อยก็เช่น ปลาแข้ ถ้าปลาใหญ่ก็จะมีปลาบึก ปลาเริม ผิดกับสมัยนี้ที่ปลาแทบไม่มีเลย

คำที่ว่า แม่น้ำของมันก็เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว ไม่เป็นธรรมชาติ เห็นจะเป็นจริง เมื่อหน้าแล้งฝนไม่ตก แต่น้ำกลับขึ้นมาเมตรกว่า น้ำขึ้นแบบผิดธรรมชาติ ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศ ปลาหาย ตลิ่งก็พัง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มันทำให้แม่น้ำโขงเปลี่ยนไปโดยเฉพาะ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่จากนโยบายใหญ่ๆ เช่น สร้างเขื่อนเพื่อเอามาเป็นกระแสไฟฟ้า ยิ่งถ้ามีเขื่อนถูกสร้างขึ้นอีก ก็จะเข้าไปขัดขวางการวางไข่ของปลา เพราะปลาหลายชนิดในแม่น้ำโขงเป็นปลาอพยพเพื่อการวางไข่ เมื่อมีเขื่อนมากั้น ปลาก็ขึ้นมาวางไข่ไม่ได้ ปลาทุกชนิดในแม่น้ำโขงจึงลดจำนวนลง และยังมีการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง เพื่อใช้เป็นเส้นทางการเดินเรือ 

“ถ้าพี่น้องบ้านเราไม่ช่วยกันต่อต้านไว้ก็จะเป็นอันตรายกับแม่น้ำ นอกจากนี้การกระทำจากมนุษย์ก็ส่งผลไม่น้อย อย่างการทิ้งขยะลงในแม่น้ำ ไม่ใช่แค่ขยะมาจากชุมชนแต่รวมถึงขยะที่มาจากเรือสินค้าขนาดใหญ่ด้วย” 

-ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว- 

“สมัยก่อนน้ำโขงยังกินได้นะ แต่เดี๋ยวนี้ถึงจะใสแค่ไหนก็กินไม่ได้แล้ว คนเฒ่าเคยพูดว่าแม่น้ำโขงนี่เป็นหม้อยาใหญ่ ตอนนี้เป็นหม้อยาพิษไปแล้ว ส่วนหนึ่งก็มาจากการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เพราะมันไหลลงสู่แม่น้ำทั้งหมด” 

-พ่อเจริญ ธรรมรัตน์-

ครูตี๋กล่าวปิดท้ายว่า สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดก็ต้องการบอกให้ทุกคนรับรู้ว่า แม่น้ำโขง คือทรัพยากรที่สำคัญ มีคุณค่า ให้ประโยชน์กับคนมามากมาย อยากกินปลาก็ไม่ต้องเลี้ยงเพราะแม่น้ำโขงเลี้ยงให้แล้ว แต่คนเรากลับไม่รักษาแหล่งหาอยู่หากินของตนเอง อย่างไกก็เป็นพืชที่ไม่ต้องปลูก มันเกิดขึ้นมาเองกับหินผา ถึงเวลาที่แม่น้ำมันปกติมันก็เจริญเติบโตออกมาให้เราได้กินได้ขาย นี่คือสิ่งที่ธรรมชาติให้กับมนุษย์ แต่มันกลับถูกทำลายด้วยความไม่เข้าใจ ความโลภของคน บางอย่างมันสามารถรักษาเอาไว้ได้อยู่ ถ้าเรามีความรู้ เข้าใจ รู้ว่ามันสำคัญก็สามารถที่จะบอกกับคนที่ไม่รู้ได้ โดยเฉพาะกับคนในพื้นที่บ้านตนเอง สามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาทรัพยากรให้มันคงอยู่ได้  

Share/แชร์

Leave a Reply