Skip to main content
ข่าว

ความกังวลของประชาชนไทยต่อการรุกสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำโขงตอนล่าง และบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไทย (ONWR) ต่อธรรมภิบาลการจัดการแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน

By เมษายน 20, 2025No Comments
[โดย ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว, นพรัตน์ ละมุล : สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ, กลุ่มรักษ์เชียงของ, 2 เม.ย. 2568]

ขอขอบคุณที่ให้เกียรติข้าพเจ้าได้ร่วมสนทนาในประเด็นปัญหาการจัดการแม่น้ำหรือปัญหาการจัดการนิเวศสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนในภูมิภาคแม่น้ำโขง รวมถึงแนวทางการทำงานของเครือข่ายประชาชนและชุมชนในลุ่มน้ำโขงในประเทศไทย

ก่อนอื่นข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจต่อผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทั้งในประเทศพม่า ไทย และจีน ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่เขตสกาย ประเทศพม่า ในวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา แรงสั่นสะเทือน 7.7 ริกเตอร์ รับรู้ได้ถึงแม่น้ำโขงตอนบนและตอนกลาง

  • เครดิตภาพ : แผนที่เขื่อนในแม่น้ำโขง โครงการเยาวชนแม่น้ำโขง โฮงเฮียนแม่น้ำของ

ตลอดเกือบสามทศวรรษแล้วที่มีการสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำโขงตอนบน ในประเทศจีน ในปัจจุบันทราบว่ามีเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนถึง 12 เขื่อน (บางรายงานบอกว่า 13 เขื่อน) กักเก็บน้ำและตะกอนดินที่สำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง คนท้ายน้ำเช่นชุมชนลุ่มน้ำโขงในจังหวัดเชียงรายได้รับผลกระทบสะสมและการเปลี่ยนแปลงต่อนิเวศสิ่งแวดล้อมและสังคมชาวประมงและเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก

การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนล่างกำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว บริษัทพัฒนาเขื่อนต่างรีบเร่งตักตวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจให้ประเทศและภูมิภาค ในขณะที่ความต้องการพลังงานไฟฟ้าลดลงและปริมาณไฟฟ้าภายในประเทศผลิตได้มากจนล้นเกิน เขื่อนพลังงานไฟฟ้าได้สร้างผลกระทบต่อความสมดุลนิเวศสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนนับหลายสิบล้านคนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ

เครดิตภาพ : เขื่อนไซยะบุรี

แผนการพัฒนาเขื่อนพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำโขงตอนล่างจำนวน 12 เขื่อน คือ เขื่อนปากแบง, เขื่อนหลวงพระบาง (กำลังเร่งก่อสร้าง เริ่มก่อสร้างในปลายปี 2563) เขื่อนไซยะบุรี (สร้างเสร็จแล้วดำเนินการใน ต.ค.2562) เขื่อนปากลาย (กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 โดย MRC เรียกร้องให้ลาวทำการลดผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้น) เขื่อนสานะคาม, เขื่อนปากชม, เขื่อนบ้านกุ่ม, เขื่อนภูงอย, เขื่อนดอนสะโฮง (สร้างเสร็จแล้วเปิดดำเนินการในเดือน พ.ย. 2563), อีก 2 เขื่อนในเขตประเทศกัมพูชา คือ สตรึงเตร็ง และ ซำบอ

เขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วสองเขื่อนคือไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง นับแต่ดำเนินการจนปัจจุบัน 5-6 ปี แล้วได้สร้างผลกระทบที่ชัดเจน ไซยะบุรีนับเป็นเขื่อนหลักแห่งแรกในแม่น้ำโขงตอนล่างที่เริ่มดำเนินการ ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนนี้ประมาณ 95% โครงการนี้ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของ MRC โดยรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนามได้แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น 

ผลกระทบชัดเจนหลังจากเขื่อนดำเนินการผลิตไฟฟ้าแล้วส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำและระบบนิเวศริมน้ำ โดยไม่มีมาตรการบรรเทา แก้ไข หรือเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ, 

ชุมชนตามแนวแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาหลายแห่งประสบกับความผันผวนของระดับน้ำที่ไม่ปกติมาตั้งแต่เขื่อนเริ่มดำเนินการ รวมไปถึงตะกอนดินลดลง จนปรากฎการณ์แม่น้ำสีฟ้าครามอย่างชัดเจนในเขตจังหวัดนครพนมหรือภาวะแม่น้ำหิวตะกอน, 

จำนวนปลาที่จับได้ลดลงอย่างมาก โดยชาวประมงไทยบางรายรายงานว่าสูญเสียไปมากถึง 80%  สิ่งนี้ได้นำไปสู่การขาดแคลนอาหารและคุณภาพชีวิตที่แย่ลงสำหรับผู้คนในภาคอีสานของประเทศไทย ในขณะการสร้างทางปลาผ่านของเขื่อนของบริษัทผู้พัฒนาเขื่อนไม่สามารถบอกชนิดและจำนวนปลาที่สามารถผ่านได้ 

เขื่อนได้ก่อให้เกิดการกัดเซาะริมฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำคานอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อหลวงพระบางจนต้องมีการดำเนินโครงการฟื้นฟูที่ได้รับเงินทุนจากธนาคารโลก  หลวงพระบางได้กลายเป็น “เมืองริมทะเลสาบ ณ ปลายอ่างเก็บน้ำไซยะบุรี”

วิธีการทำประมงแบบดั้งเดิมที่พัฒนามาเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปีเริ่มใช้การไม่ได้ผลเนื่องจากความผันผวนของระดับน้ำที่รวดเร็วและรุนแรง ซึ่งทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญที่ปลาวางไข่ การเกษตรริมฝั่งล่มสลาย

นั่นคือผลกระทบที่ชัดเจนจากเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้ว

เครดิตภาพ : เขื่อนหลวงพระบาง

นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจในต้นปี 2567 ที่ผ่านมา เราพบว่านอกจากเขื่อนหลวงพระบางกำลังเร่งก่อสร้างแล้วนั้น การให้สัมปทานขุดแร่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเกาะดอน และปากลำน้ำห้วยสาขา ก่อนที่น้ำจะท่วมพื้นที่ การขุดแร่นี้มีให้เห็นตลอดสองฝั่งโขงจากเหนือเขื่อนหลวงพระบางมายังปากแบง และเราพบการขุดแร่ริมฝั่งโขงอีกครั้ง นับแต่ตอนเหนือที่ตั้งเขื่อนปากแบงขึ้นมาจนถึงเขตแขวงบ่อแก้ว – จังหวัดเชียงรายหากนับจากชายแดนไทย-ลาว จากสามเหลี่ยมทองคำลงทางใต้ของลำน้ำ เขื่อนปากแบงเป็นเขื่อนแรกซึ่งตั้งอยู่ห่างจากแก่งผาได บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ไปทางใต้เพียง 96 กม. กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 912 เมกะวัตต์

กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนปากแบงเริ่มต้นกับ MRC ในเดือน ธ.ค. 2559 ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ EGAT (ประเทศไทย) ในเดือนกันยายน 2566 โดยมีกำหนดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2576 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในวันที่ 1 ตุลาคม 2568 โดยมีกำหนดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในวันที่ 1 มกราคม 2576 

เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำโขง-ประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงธนาคารในประเทศไทย ขอให้ระงับการให้เงินกู้ในเดือนตุลาคม 2567 และจัดงานรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกเขื่อนปากแบง ในวันที่ 7 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา แม้นจะผ่านกระบวนการ PNPCA และเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง บริษัทพัฒนาเขื่อนไม่สามารถตอบคำถามและการแก้ไขผลกระทบข้ามพรมแดนให้แก่ประชาชนไทยทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดแม่น้ำโขงในภาคอีสานได้  ชุมชนริมน้ำและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานว่าไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและผลกระทบสะสมของเขื่อน แม้ว่าจะมีการร้องขอข้อมูลแล้ว 

ผลกระทบสำคัญข้ามพรมแดนต่อแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดเชียงราย คือผลกระทบจากภาวะน้ำเท้อหรือไหลย้อนกลับไปยังแม่น้ำสาขา เช่น แม่น้ำงาวซึ่งเป็นแอ่งที่ราบพื้นที่ตั้งเมืองเก่าและที่ตั้งของอำเภอเวียงแก่นในปัจจุบัน, แม่น้ำอิงในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นที่ราบลุ่มผลิตอาหารทางการเกษตรที่สำคัญของภาคเหนือของไทยแห่งหนึ่ง, ภาวะน้ำท่วมย้อนกลับนี้จะท่วมพื้นที่การเกษตร เมืองเก่า และระบบนิเวศริมฝั่ง เกาะดอน 

จากระดับน้ำที่วางแผนไว้ของเขื่อนอยู่ที่ 340 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เขื่อนอาจทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างมากในประเทศไทย เพิ่มความเสี่ยงของน้ำท่วมรุนแรงและทำลายพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งโบราณคดีที่มีค่า เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และการไหลของแม่น้ำ ซึ่งมีผลกระทบกับสัตว์น้ำ และพืชน้ำ เช่น ปลา และ ไก หรือ สาหร่ายแม่น้ำโขง เป็นความกังวลต่อความมั่นคงทางอาหารเนื่องจากการลดลงของจำนวนปลาและพืชน้ำที่เป็นแหล่งอาหาร/โปรตีนและรายได้ที่สำคัญของชุมชนริมน้ำ  

นอกจากนี้พื้นที่แม่น้ำโขงชายแดนไทย-ลาว เกาะแก่ง หาดดอนที่จมน้ำหายไปนั้นมีผลต่ออธิปไตยเขตแดน ข้อสังเกตสำคัญคือโครงการฯ ไม่มีแบบจำลองการไหลย้อนกลับในรายงานของผู้พัฒนาเขื่อน ซึ่งจะประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนชาวไทย โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ONWR) ได้รับทราบถึงประเด็นนี้ นอกจากนี้ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกองทัพเรือ ยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการไหลย้อนกลับต่อเส้นเขตแดนไทยในแม่น้ำโขง 

การขับเคลื่อนของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและบริษัทผู้พัฒนาเขื่อน ได้จัดลงมาจัดเวทีชี้แจงกับชาวบ้านในโครงการสร้างเขื่อนปากแบง ในต้นปี 2567 และได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบเรื่องการตั้งกองทุนเยียวยา โดยชาวบ้านได้ตั้งคำถามถึงกองทุนว่า จะเยียวยาอะไร เมื่อไม่ได้ศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนให้ชัดเจน เมื่อไม่รู้ว่าผลกระทบมีเท่าไหร่แล้วตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาอะไร และอย่างไร เมื่อบริษัทผู้พัฒนาเขื่อนไม่สามารถตอบได้ว่าผลกระทบข้ามพรมแดนมากน้อยแค่ไหน แสดงให้เห็นการพัฒนาเขื่อนที่ขาดความรอบคอบ ขาดความโปร่งใส

โครงการเขื่อนปากแบงเน้นย้ำถึงความตึงเครียดระหว่างการพัฒนาในประเทศหนึ่งกับผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะมีความกังวลอย่างมากจากชุมชน จากหลายๆ ฝ่าย และแม้แต่หน่วยงานของไทย โครงการก็ยังคงดำเนินต่อไปด้วยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ลงนามแล้ว การขาดการประเมินผลกระทบที่ครอบคลุมและโปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับผลกระทบต่อประเทศไทย ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ

อีกกรณีที่หยิบยกมากล่าวในวันนี้คือเขื่อนสานะคาม ซึ่งเป็นเขื่อนบนแม่น้ำโขง ที่ตั้งอยู่ใกล้เขตแดนไทยเพียง 2 กม. จากปากแม่น้ำเหือง อ.เชียงคาน จ.เลย ขนาด 684 เมกะวัตต์ โครงการนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาภายใต้กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation process – PNPCA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) [ONWR] ของไทยได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ โดยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายในจังหวัดบึงกาฬ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อรวบรวมความเห็นของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเสนอต่อรัฐบาลและ MRC ซึ่งก่อนหน้านี้ MRC ได้ตีกลับรายงานทางเทคนิคของเขื่อนสานะคาม โดยระบุว่าข้อมูลผลกระทบต่อประเทศท้ายน้ำยังไม่ชัดเจน

ผู้ตรวจการแผ่นดินของไทยได้ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาและผลกระทบของโครงการ และมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทย หลังจากทีเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสานและเหนือได้ยื่นเรื่องให้มาตรวจสอบเรื่องนี้ และเครือข่ายเสรีภาพแม่น้ำโขงกับองค์กรภาคประชาสังคม 12 องค์กร ได้ยื่นฟ้อง สทนช. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และเดินหน้าโครงการโดยมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ในเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา

โครงการเขื่อนสานะคามเป็นอีกหนึ่งโครงการที่แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของผลกระทบข้ามพรมแดน การที่ MRC ตีกลับรายงานทางเทคนิคสะท้อนถึงความกังวลในระดับภูมิภาค การดำเนินการของภาคประชาชนในการยื่นฟ้อง สทนช. บ่งชี้ถึงความไม่พอใจต่อกระบวนการการมีส่วนร่วมและการเปิดเผยข้อมูล รวมไปถึงความหวาดกังวลเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงร่องน้ำลึก การกัดเซาะตลิ่ง การเปลี่ยนแปลงเขตแดน และผลกระทบต่อการประมงและวิถีชีวิตของประชาชนริมน้ำโขง

เขื่อนฆ่าโขง เขื่อนฆ่าชีวิตเรา หยุดเขื่อนแม่น้ำโขง

บทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC), สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไทย (ONWR) ต่อธรรมภิบาลการจัดการแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน

ดังที่เรารู้กันทั่วไปว่าประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างมีองค์กรกลางตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่นํ้าโขงอย่างยั่งยืน ในวันที่ 5 เม.ย. พ.ศ. 2538 ณ จังหวัดเชียงราย โดยมีประเทศกัมพูชา, ประเทศลาว, ประเทศไทย และประเทศเวียดนาม เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์และเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การใช้การอนุรักษ์ และการจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องของลุ่มแม่นํ้าโขง

การพัฒนาเขื่อนตอนล่างทั้งหมดที่กล่าวมา องค์กรกลางที่ทำหน้าที่ประสานงาน สร้างการจัดการแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ตามความตกลงของ 4 ประเทศ ยังไม่บรรลุถึงการให้ประเทศสมาชิกได้ทำตามข้อตกลงอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม โดยเฉพาะขบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) เป็นกระบวนการการที่เอื้อต่อการทำให้เกิดเขื่อน เพราะไม่สามารถหยุดการสร้างเขื่อนที่มีผลกระทบต่อนิเวศ เศรฐกิจ และสังคมต่อผู้คนมากหลายสิบล้านคนได้ เป็นเพียงแต่หาแนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อเขื่อนสร้างเสร็จ 

เหตุสำคัญคือการพัฒนาเขื่อนพลังงานไฟฟ้าขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ขาดการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างรอบคอบและโปร่งใสอย่างแท้จริง 

โดยเฉพาะกรณีเขื่อนปากแบงและเขื่อนสานะคามซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชายแดนไทย มีการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจอยู่มากมายจากหลายฝ่าย 

แรงกดดันจากผลกระทบสะสมต่อแม่น้ำโขงตอนล่างมาเกือบสามทศวรรษจากเขื่อนพลังงานไฟฟ้าตอนบนของจีน เมื่อมีเขื่อนสร้างเพิ่มมากขึ้นในแม่น้ำโขงตอนล่างจนแนวโน้มแม่น้ำจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ และสร้างความหวาดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบสะสมจากเขื่อนหลายแห่งในแม่น้ำโขง เพิ่มมากขึ้นในด้านความมั่นคงด้วยการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำลึกที่อาจส่งผลต่อการลาดตระเวนและปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และเป็นปัญหาต่ออธิปไตยดินแดน ซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงมากยิ่งขึ้นทุกวัน 

ขอขอบคุณทุกท่าน

The Esan Scooter Trip From Chiang Kan to Ta Mui
Share/แชร์

Leave a Reply