โดยศิลปิน O
แนวคิด : “นับแต่การพัฒนาสมัยใหม่ในลุ่มน้ำโขงเกิดขึ้นด้วยเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนสิบกว่าเขื่อนยักษ์ การพัฒนาขยายเส้นทางการเดินเรือพานิชย์ขนาดใหญ่ การพัฒนาเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่างอีกกว่า 6 เขื่อนใหญ่เป็นอย่างน้อย, การสร้างผนังป้องกันตลิ่งตลอดแนวชายฝั่งโขงของไทย, การพัฒนาการเกษตรเคมีแบบเข้มข้น
ตลอดสองทศวรรษกว่า เมื่อสอบถามคนหาปลาแห่งลำน้ำโขงว่า ท่านได้อะไรจากการพัฒนาเหล่านั้น คำตอบที่ได้ คือ ได้เหลือเพียงก้างปลาให้ชาวบ้าน ในหลายๆครั้ง แม้นจะได้ปลามาตัวเดียวแต่ด้วยไม่มีเงินสดให้ลูกไปโรงเรียนจึงจำเป็นต้องขายปลา เนื้อและก้างก็ไม่ได้กิน แต่ชีวิตถูกผลกระทบสะสมจนเลิกจับปลาเป็นอาชีพ บ้างขึ้นจากแม่น้ำไปทำงานต่างถิ่น บ้างมีที่ดินเล็กน้อยได้ทำไร่ข้าวโพด ทำนา จมอยู่ในวังวนหนี้ไม่สูญสิ้น”
กระบวนการ : ศิลปิน O ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดการนำปลาตัวท้ายๆ ในลำน้ำโขงที่สำรวจพบในช่วงห้าปีมานี้มาสร้างสรรค์งานศิลปะจัดวางโดยมีโครงกระดูกปลาเป็นหลักฐานพยานก่อนที่มันจะสูญพันธุ์ไปจริงๆ
เทคนิค : ปฏิมากรรมจัดวางโครงกระดูกปลาเพี้ย ในนิเวศขอนไม้ หิน ทราย และต้นไคร้น้ำ ด้วยวิธีการหล่อเรซิ่น
ข้อมูลทั่วไป
ปลาเพี้ยเป็นปลาเกล็ดน้ำหนักมากสุดที่ชาวบ้านจับได้ 12 กก. ความยาวประมาณ 60 ซม. พบเป็นจำนวนมาก อยู่ตัวเดียว เป็นปลาอพยพขึ้น-ลง ขึ้นเดือนมีนาคม-พฤษภาคม แหล่งที่อยู่อาศัยและหากิน พบได้ทั่วไปตามหินผา เกาะแก่ง เป็นปลากินพืชน้ำ ไก ไครหินผา วางไข่เดือน พ.ค.- ก.ค. ใช้ มอง สอด แห ไซลั่น เป็นเครื่องมือในการจับ ขายกิโลกรัมละ 80-100 บาท (2547-2549) นำมาลำลาบ ส้า ทำปลาร้า ก้อย ต้ม ปิ้งหรือทอด (อ้างอิง : ความรู้ท้องถิ่นเรื่องพันธุ์ปลา แม่น้ำโขง : งานวิจัยจาวบ้าน โดย คณะนักวิจัยจาวบ้านเชียงของ-เวียงแก่น, 2549)
“ฤาเป็นปลาตัวสุดท้าย” หมายเลข 1 : เราได้ปลาเพี้ยจากปางมอง บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย นำทำกระบวนการรื้อและสร้างชีวิตปลาเพี้ยสู่งานศิลปะจัดวางชิ้่นนี้ ให้เห็นศิลปะของการพัฒนาที่เหลือเพียงก้างปลาให้ชาวบ้าน -ว่างเปล่า O
รับชมสารคดีประกอบงานศิลปะจัดวาง “ฤาเป็นปลาตัวสุดท้าย” หมายเลข 1 ได้ที่ https://youtu.be/24ATEMkxxok
สนับสนุนผลงานนี้โดยกิจกรรมสื่อเพื่อการเรียนรู้แม่น้ำโขง ภายใต้กรอบความร่วมมือโครงการ USAID Mekong For the Future, WWF