Skip to main content

เยาวชนแม่น้ำโขง เปิดบ้านต้อนต้อนรับและร่วมเรียนรู้กับคณะเยาวชน
"Where There be Dragons"

วันที่ 5 - 6 กรกฎาคม 2567

วันที่ 5-6 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ กลุ่มรักษ์เชียงของ และคณะ Where There be Dragons นำ 9 นักศึกษานานาชาติ ทั้งอเมริกาและจีน มาเรียนรู้และทำความรู้จักแม่น้ำโขง ณ เชียงของ กับนักเรียนโครงการเยาวชนแม่น้ำโขง : โรงเรียนเชียงของวิทยาคม 6 คน โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมรัชมังคลาภิเษก 2 คน นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน 3 คน และนักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 5 คน

อนึ่งโครงการเยาวชนแม่น้ำโขงได้รับการสนับสนุนจากสถานฑูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงเทพ มาเป็นปีที่สอง ซึ่งโฮงเฮียนแม่น้ำของได้ทำงานบูรณาการหลักสูตรวิทยาศาสตร์พลเมืองระดับมัธยมศึกษากับโรงเรียนในพื้นที่อำเภอเชียงของ เวียงแก่น และเชียงแสน จ.เชียงราย
กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักกันผ่านกิจกรรม ‘ฉันในสายน้ำบ้านฉัน’ แล้วฟังการบรรยายพร้อมแลกเปลี่ยน กับ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ เจ้าของรางวัล Goldman Prize และ ชางหลินเถียน เอเชียฟาวเดชั่น แห่งเอเชีย ในประเด็น “ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแม่น้ำโขง ผลกระทบของเขื่อนและการเคลื่อนไหวต่อต้านเขื่อน วิถีชีวิตท้องถิ่นริมแม่น้ำ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติข้ามพรมแดน และ การมีส่วนร่วมของชาวบ้านและเยาวชน”

มาลี พัฒนประสิทธิ์พร ผู้ประสานงานโครงการเยาวชนแม่น้ำโขงและกระบวนกร แนะนำกิจกรรมวิทยาศาสตร์พลเมืองในโปรแกรม Mekong Youth และงานพัฒนาชุมชนของโฮงเฮียนแม่น้ำของ พร้อมแนะนำการตรวจวัดคุณภาพน้ำด้วยวิธีการทางเคมี ซึ่งเลือกวัดปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ DO (Dissolved Oxygen) เพื่อนำไปทดลองปฏิบัติการจริงกับแม่น้ำบริเวณปากแม่น้ำอิง ณ บ้านปากอิงใต้ โดยเดินทางล่องเรือลงใต้จากท่าเรือโฮงเฮียนแม่น้ำของผ่านเมืองเชียงของ ดอนโป่ง ดอนแวง พบชาวประมงหาปลาอยู่สามถึงสี่ลำเรือกำลังวางข่ายหรือมองหาปลา

จักร กินีสี นักสื่อความหมายด้านนก นำเดินและสนทนาแลกเปลี่ยนจากท่าน้ำไปยังศาลาท่าน้ำ เพื่อให้เยาวชนได้เห็นสภาพการเปลี่ยนแปลงของปากแม่น้ำอิงใกล้กับเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่น่าเป็นห่วง การตรวจวัดคุณภาพน้ำใช้เวลาไม่มากได้ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ 8 ppm. ซึ่งสะท้อนว่าน้ำบริเวณปากแม่น้ำอิงอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ นักเรียน นักศึกษาและครูที่ปรึกษายังได้ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนบทเรียน การเปลี่ยนแปลง ผลกระทบจากการพัฒนาและการปรับตัวของชาวบ้านชุมชนปากอิงใต้
นายบุญคง บุญวาส ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านปากอิงใต้ นับแต่ ปี 2543 เล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคนปากอิงใต้ และการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงและแม่น้ำอิง,
ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน นายมานพ มณีรัตน์ กล่าวถึงสุขภาพดิน อากาศ และแม่น้ำของชุมชนปากอิง ส่วนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กล่าวในนามของผู้นำกลุ่มผู้หญิงที่พยายามแปรรูปปลาจากหนองน้ำและแม่น้ำที่ยังพอหาได้อยู่บ้างมาถนอมอาหารเป็น ปลาร้า และปลาส้ม เพื่อเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร หากมีเหลือจึงขายเพื่อเพิ่มรายได้
นักเรียนเยาวชนได้ลาจากบ้านปากอิงใต้มาชมตลาดนัดกองเก่า เพื่อเรียนรู้ตลาดวัฒนธรรม อาหาร และสนทนากับชาวบ้านแห่งชุมชนหาดไคร้ ที่มีชื่อเสียงในการจับปลาบึก และเป็นแหล่งผลิตอาหารจากสาหร่ายแม่น้ำโขงที่เรียกว่า ไก

วันที่ 6 ก.ค. ยามเช้าเยาวชน Mekong Youth Program จากโรงเรียนเชียงของวิทยาคมและห้วยซ้อวิทยาคมฯ ร่วมกันทบทวนและสะท้อนผลการเรียนรู้จากการเยี่ยมชุมชน พร้อมระดมความคิด เพื่อหาแนวทางการจัดทำโครงงานการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่ม รวมถึงนัดหมายการติดตามเพื่อลงรายละเอียดแผนงานการเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

Share/แชร์

Leave a Reply